CRC Café : 2019

วันศุกร์ที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2562

Protocol Registration การลงทะเบียนการวิจัยทางคลินิก


ตาม ประกาศปฏิญญาเฮลซิงกิ (Declaration of Helsinki) เพื่อยืนยันว่า การดำเนินการวิจัยเป็นไปด้วยความโปร่งใส ถูกต้องตามหลักการทางวิทยาศาสตร์และหลักจริยธรรม ประชาชนสามารถรับรู้และเข้าถึงข้อมูลวิจัย จึงทำให้ในปัจจุบันนี้การลงทะเบียนการวิจัยทางคลินิกเป็นข้อกำหนดที่สำคัญอย่างหนึ่ง โดยเฉพาะเมื่อการวิจัยนั้นๆเป็นการวิจัยยาหรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดใหม่ที่ต้องการขึ้นทะเบียนใหม่ รวมทั้งผลิตภัณฑ์ชีวภาพที่ควบคุมตามข้อกำหนดของ US FDA และ EMA

ประโยชน์จากการลงทะเบียน
  •         เพื่อลดความซ้ำซ้อนในการทำวิจัยในเรื่องคล้ายๆกัน ซ้ำๆกัน ซึ่งทำให้เสียเวลา เสียเงินทอง และไม่เกิดองค์ความรู้ใหม่ๆ
  •        ผู้ให้ทุน คณะกรรมการวิจัย นักวิจัย ประชาชน นิสิต นักศึกษา ผู้สนใจสามารถเข้าไปตรวจสอบข้อมูลได้ตลอดเวลา
  •        การลงทะเบียนยังเป็นที่ยอมรับและข้อกำหนดในการลงตีพิมพ์ในวารสารที่มีชื่อเสียง

ใครเป็นผู้ลงทะเบียน
ผู้ให้ทุนวิจัย หรือ ผู้วิจัยหลักที่ได้รับมอบหมายจากผู้ให้ทุนในการดำเนินการวิจัยและเป็นผู้ที่สามารถเข้าถึงและวิเคราะห์ข้อมูลวิจัย  รวมทั้งตีพิมพ์และเผยแพร่ผลการวิจัย มีหน้าที่ลงทะเบียนการทำวิจัยในเวปไซด์http://www.clinicaltrial.gov หรือที่เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า the Protocol Registration and Result System: PRS

จะต้องลงทะเบียนเมื่อไร
ให้ยื่นเรื่องก่อนรับอาสาสมัครคนแรกเข้าร่วมโครงการ โดยทั่วไปประมาณ 30 วันหลังจากยื่นเรื่องจึงมีการประกาศ (Posting) ใน website และควรปรับปรุงทุก 6 เดือน

ข้อมูลในการลงทะเบียนมีอะไรบ้าง
·       คำอธิบายเกี่ยวกับโครงการวิจัย เช่น ชื่อย่อ รูปแบบการวิจัย ข้อมูลที่ใช้ในการวัดผลการวิจัยเบื้องต้น การวิจัยในอดีต
·       วิธีการสรรหาอาสาสมัคร เช่น จำนวนอาสาสมัครที่รับ เกณฑ์การคัดเลือกอาสาสมัคร สถานะการรับอาสาสมัครโดยรวม      สาเหตุที่ต้องยกเลิกโครงการ (ถ้ามีการยุติโครงการก่อนกำหนด)
·       ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่วิจัย และการติดต่อ เช่น ชื่อและที่อยู่ของผู้วิจัย ชื่อผู้ให้ทุนวิจัย ข้อมูลเกี่ยวกับสถานที่วิจัย
·       ข้อมูลการบริหารจัดการโครงการ เช่น ผู้ให้ทุน ต้นสังกัดของผู้วิจัยการมีผลประโยชน์ทับซ้อน สถานะการอนุมัติของคณะ
      กรรมการจริยธรรมวิจัย

รายงานผลการวิจัย (ถ้ามี)
·       รายงานสถานะอาสาสมัคร เช่น จำนวนอาสาสมัครในแต่ละกลุ่ม จำนวนอาสาสมัครที่เริ่มการรักษา จำนวนอาสาสมัคร
      ที่เสร็จสิ้นกิจกรรมวิจัย
·       ข้อมูลส่วนบุคคลและคุณลักษณะพื้นฐาน จัดเก็บเป็นกลุ่มการรักษา หรือกลุ่มเปรียบเทียบ และอาสาสมัครทั้งหมดในโครงการวิจัย รวมทั้ง อายุ เพศ และเพศสภาพ เชื้อชาติหรือชาติพันธ์ และการวัดประเมินพื้นฐานอื่นๆและข้อมูลพื้นฐานที่ใช้ในการวิเคราะห์สำหรับการวัดผลลัพธ์หลัก
·       ผลการวิจัยและสถิติวิเคราะห์สำหรับการวัดผลลัพธ์หลักและผลลัพธ์รอง โดยกลุ่มการรักษา หรือกลุ่มเปรียบเทียบ
      รวมทั้งผลการวิเคราะห์ทางสถิติทางวิทยาศาสตร์ที่เหมาะสมสำหรับผลลัพธ์นี้ ถ้ามี
·       ข้อมูลเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ ตารางเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่คาดคิดและมาคาดคิดและเหตุการณ์ไม่พึง
      ประสงค์อื่นๆที่มีความถี่ในการเกิดมากกว่า 5% ในแต่ละกลุ่ม (หรือในระยะเวลาที่เก็บข้อมูล) ข้อมูลในการรายงาน
      เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ (ถ้ามีการเก็บข้อมูลเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่แตกต่างจากคำจำกัดความที่ใช้ใน Final Rule) 
      วิธีการเก็บรวบรวมข้อมูล (ใช้สำหรับเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในระหว่างดำเนินการวิจัย ทั้งอย่างเป็นระบบหรือ
      ไม่เป็นระบบ ตารางการเสียชีวิตจากสาเหตุต่างๆพร้อมจำนวนและความถี่ตามกลุ่มการรักษา หรือกลุ่มเปรียบเทียบ
·       แผนการดำเนินการวิจัยและการวิเคราะห์ทางสถิติ ควรยื่นพร้อมรายงานผลการวิจัย หรือยื่นก่อนก็ได้
·       ข้อมูลการบริหารจัดการ รวมทั้งบุคคลที่ติดต่อได้หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมที่เกี่ยวข้องกับสรุปผลการวิจัยที่ประกาศไว้




วันพุธที่ 20 พฤศจิกายน พ.ศ. 2562

ตัวอย่าง SOP Obtaining Informed Consent


                                          ตัวอย่าง มาตรฐานการปฏิบัติงาน เรื่อง การขอความยินยอม                                                


การแสดงความยินยอมเข้าร่วมโครงการวิจัยเป็นกระบวนการที่อาสาสมัครและพ่อแม่ผู้ปกครอง (ถ้าจำเป็น) ที่สนใจเข้าร่วมโครงการวิจัย ได้ตัดสินใจด้วยความสมัครใจหลังจากได้รับข้อมูลเกี่ยวกับโครงการวิจัยอย่างละเอียดแล้ว ผู้วิจัยจะได้รับการยินยอมจากอาสาสมัคร และพ่อแม่ผู้ปกครอง (ถ้าจำเป็น) อย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ก่อนที่จะคัดกรองเพื่อเข้าโครงการวิจัยโดยการลงนามและลงวันที่ในเอกสารขอความยินยอม การยินยอมเป็นกระบวนการที่ดำเนินต่อเนื่องไปตลอดการวิจัย
จากนี้ไป คำว่า อาสาสมัคร หมายถึง อาสาสมัครและพ่อแม่ผู้ปกครอง (ถ้าจำเป็น)
1.    วัตถุประสงค์  เพื่อเป็นมาตรฐานการปฏิบัติงานในกระบวนการยินยอมเข้าร่วมโครงการ
2.    ผู้ปฏิบัติ เป็นผู้ที่มีชื่อในแบบบันทึกรายชื่อทีมวิจัย บทบาทและความรับผิดชอบ (Delegation Log) ซึ่งได้รับมอบหมายเป็นผู้ให้ข้อมูลทั้งหมดแก่อาสาสมัคร ได้แก่ ผู้วิจัยหลัก ผู้วิจัยร่วม ผู้ประสานงานโครงการ พยาบาลวิจัย หรือผู้วิจัยที่ได้รับมอบหมายหน้าที่
3.    หน้าที่ความรับผิดชอบ  ผู้ปฏิบัติเป็นผู้ที่มีหน้าที่ให้ข้อมูลรายละเอียดโครงการ ตอบข้อสงสัย/ข้อคำถาม ขอความยินยอมกับอาสาสมัคร และบันทึกกระบวนการขอความยินยอม ผู้ปฏิบัติต้องผ่านการอบรมเกี่ยวกับจริยธรรมการวิจัย  การปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดี (Good Clinical Practices: GCP) และมีการอบรมเกี่ยวกับ ขั้นตอน กระบวนการของโครงการวิจัยนี้ มีความเข้าใจโครงการวิจัยอย่างละเอียด สามารถตอบข้อสงสัยของอาสาสมัคร และเปิดโอกาสให้อาสาสมัครมีเวลาพอเพียงในการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการวิจัยด้วยความสมัครใจ
4.    วิธีดำเนินงาน
ถ้าพบว่ามีหลักฐานที่แสดงว่าอาสาสมัครมีคุณสมบัติเบื้องต้นสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ผู้วิจัยจะต้องให้อาสาสมัครแสดงความยินยอมก่อนที่จะเริ่มเข้าสู่กระบวนการต่างๆในโครงการวิจัย โดยมีวิธีการปฏิบัติดังนี้
4.1      ผู้วิจัยที่ได้รับมอบหมายแนะนำตนเอง ชื่อ นามสกุล รวมทั้งหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองภายในโครงการวิจัย และสร้างสัมพันธ์ภาพที่ดีกับอาสาสมัคร
4.2      อธิบายเกี่ยวกับโรค พยาธิสภาพและการดำเนินการของโรค และการรักษาที่มีให้แก่อาสาสมัคร
4.3      แนะนำโครงการวิจัย และอธิบาย กิจกรรมวิจัยทั้งหมด ตั้งแต่การคัดกรอง การคัดเลือก การรักษา และการติดตามผล โดยการอ่านจากเอกสารขอความยินยอม
4.4      กรณีที่อาสาสมัครไม่สามารถอ่านหนังสือได้ ปฏิบัติดังนี้
4.5.1 ผู้วิจัยสามารถอ่านเอกสารขอความยินยอมให้ผู้เข้าร่วมโครงการฟังได้
4.5.2 อาสาสมัครอาจหาผู้ที่จะอ่านเอกสารขอความยินยอมในภาษาที่ตนเองสามารถเข้าใจได้ซึ่งบุคคลดังกล่าวต้องเป็นผู้ใหญ่และต้องมาอยู่ในระหว่างกระบวนการลงนามในเอกสารขอความยินยอม
4.5.3 การลงนามในเอกสารขอความยินยอมสำหรับผู้เข้าร่วมโครงการที่ไม่รู้หนังสือ อาจพิมพ์ชื่อของผู้เข้าร่วมโครงการที่เส้นบรรทัดของชื่อและขอให้ผู้เข้าร่วมโครงการทำเครื่องหมาย จะใช้การพิมพ์ชื่อ ใช้ปั๊มลายนิ้วมือ (หัวแม่มือด้านขวา) แทน จากนั้นให้พยานลงนามและลงวันที่ในฐานะพยาน โดยที่พยานไม่ควรเป็นสมาชิกของทีมวิจัย
4.5      เมื่อให้ข้อมูลแก่อาสาสมัครแล้ว เปิดโอกาสให้อาสาสมัครซักถาม และตอบคำถามจนกว่าจะมั่นใจว่าอาสาสมัครเข้าใจในข้อมูลทั้งหมด และให้เวลาในการศึกษาข้อความในเอกสารขอความยินยอมอย่างเพียงพอเพื่อเป็นแนวทางในการพิจารณาทางเลือกต่างๆ ในทุกเรื่อง และในกระบวนการนี้จะต้องไม่เป็นการชักชวน หรือการบีบบังคับอาสาสมัครให้เข้าร่วมโครงการวิจัยแต่อย่างใด
4.6      การลงนามในใบยินยอม
4.6.1    อาสาสมัครลงนามและลงวันที่ในเอกสารขอความยินยอม
4.6.2    หากอาสาสมัครอ่านไม่ออกและเขียนไม่ได้ ให้ลงนามโดยใช้ปั๊มลายนิ้วมือ (หัวแม่มือด้านขวา) และแล้วให้พยานลงนามและวันที่ พยานในที่นี้จะต้องเป็นผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องกับโครงการวิจัย หลังจากนั้นผู้วิจัยที่อธิบายเอกสารขอความยินยอมลงนามและวันที่เป็นขั้นตอนสุดท้าย
4.6.3    หากอาสาสมัครอายุ 7 ปี ถึงน้อยกว่า 18 ปี และพ่อแม่ผู้ปกครองตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ ผู้วิจัยจะขอให้ผู้เข้าร่วมโครงการลงนามและลงวันที่ในเอกสารขอความยินยอมของอาสาสมัครเด็กจำนวน1 ชุด  และต้องให้พ่อแม่ผู้ปกครองลงนามเอกสารขอความยินยอมอีกครั้งเป็นจำนวน 1 ชุด
4.6.4    เมื่อเสร็จขั้นตอนการลงนามในเอกสารขอความยินยอมแล้ว ทางผู้วิจัยจะให้หนังสือยินยอมที่สมบูรณ์แล้วกับอาสาสมัคร หรือผู้ปกครองจำนวน 1 ชุด แล้วที่เหลืออีก 1 ชุดจะเก็บไว้ที่โครงการวิจัยอย่างมิดชิดและปลอดภัย เพื่อเป็นการรักษาความลับของผู้เข้าร่วมโครงการ
4.7      บันทึกในประวัติของผู้เข้าร่วมโครงการโดยละเอียดว่าได้แสดงการยินยอมก่อนที่จะเริ่มกระบวนการคัดกรองรวมถึงเมื่อผู้เข้าร่วมโครงการได้รับแบบแสดงความยินยอมแล้วเป็นจำนวน 1ชุด
4.8      ทีมวิจัยจะมีการออกหมายเลขรหัสผู้เข้าร่วมโครงการ (Subject Number) และเป็นหมายเลขรหัสของผู้เข้าร่วมโครงการซึ่งจะลงบันทึกในเอกสารคักกรอง (Screening Enrollment Log) ทันทีที่ผู้เข้าร่วมโครงการลงนามในเอกสาร และ เอกสารข้อมูลผู้ป่วย (Subject Identification Code list) ที่เป็นเอกสารความลับห้ามเผยแพร่ออกนอกทีมวิจัย
4.9      ถ้าอาสาสมัครไม่ยินยอมเข้าร่วมโครงการ มีข้อปฏิบัติดังนี้
4.9.1          ควรกล่าวขอคุณอาสาสมัครที่เสียสละเวลาในการพูดคุยครั้งนี้
4.9.2          หยุดกระบวนการคัดกรองเข้าสู่โครงการนี้ทั้งหมดและไม่ต้องบันทึกข้อมูลใดๆของผู้ป่วยรายนั้นๆ
4.9.3          ผู้วิจัยต้องให้ข้อมูลกับอาสาสมัครว่าการตัดสินใจไม่เข้าร่วมโครงการวิจัยจะไม่กระทบถึงการดูแลที่จะได้รับและผู้ป่วยยังสามารถได้รับการรักษาตามปกติ
5.    าคผนวก:
5.1  เอกสารแนะนำอาสาสมัครและใบยินยอม
5.2  แบบประเมินความเข้าใจ
5.3  Screening Enrollment Log
5.4  Subject Identification Code list
6.    อ้างอิง:   ICH-GCP
การอนุมัติ: 
..............................                                    ...........................
ลงนาม                                                       วันที่                                                                   

หมายเหตุ
-           หากมีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขโครงร่างการวิจัยและเนื้อหาในเอกสารขอความยินยอม ผู้วิจัยต้องแจ้งอาสาสมัครที่
        ยังอยู่ในโครงการให้รับทราบ และดำเนินการให้อาสาสมัครลงนามในเอกสารขอความยินยอมฉบับใหม่อีกครั้ง
-           กรณีที่มีการกระทำที่เบี่ยงเบนไปจากกระบวนการดังกล่าวข้างต้นให้บันทึกการกระทำที่เบี่ยงเบนนี้ลงในเอกสาร
        ต้นฉบับ ทั้งในส่วนที่เก็บไว้ในแฟ้มเอกสารและส่วนที่ให้อาสาสมัครไปแล้ว
-           เก็บสำเนาบัตรประชาชนอาสาสมัคร รวมทั้งผู้ปกครองและพยาน (ถ้าจำเป็น)  ไว้กับเอกสารขอความยินยอมที่ลง
        นามแล้ว (เก็บเป็นความลับ)

Footnoteที่ต้องมีทุกหน้า: บอกชื่อเอกสาร ฉบับที่ และ หน้าที่/จากจำนวนทั้งหมดกี่หน้า
เป็นเพียงตัวอย่างนะคะ ต้องปรับตามคณะกรรมการจริยธรรมที่เกี่ยวข้อง ผู้ให้ทุน สถาบัน โครงร่างการวิจัย และอื่นๆ 

วันศุกร์ที่ 18 ตุลาคม พ.ศ. 2562

เงินๆทองๆ (NEST EGG)

เงินๆทองๆ(NEST EGG)

ช่วงนี้มีข่าวคนฆ่าตัวตายหนีหนี้กันแทบทุกวัน และเมื่อมีคนมาถามเรื่องการเล่นหุ้น การเก็บเงิน การลงทุน ทำให้มานั่งมาทบทวนเรื่องการจัดการเรื่องเงินๆทองๆ บอกตามตรงเป็นคนไม่มีแผนทางการเงินที่ดีนัก แต่ตั้งแต่จำความได้เมื่อทำงานได้เงินครั้งแรกในชีวิต คือเมื่อตอนประมาณช่วงปิดเทอม  ป.7 กำลังเริ่มเกเรพ่อเอาไปฝากทำงานในโรงงานใกล้บ้าน ที่โรงงานคนงานที่ทำงานมีหลายแบบ กลุ่มคนงานเด็กมาจากหมู่บ้านต่างจังหวัดที่พ่อแม่ได้เงินก้อนใหญ่ไปแล้ว เด็กก็มาทำงานและกินอยู่ที่บ้านเจ้าของโรงงาน กลุ่มคนงานอิสระที่บ้านอยู่แถวโรงงาน รายได้คิดจากปริมาณงานที่ทำได้ ทำงานอาทิตย์ละ 6 วันทุกวันเสาร์ต้องล้างส้วมและทำความสะอาดโรงงาน ถึงแม้จะเป็นเด็กฝากก็ต้องทำงานเหมือนคนงานอื่นๆ ล้างส้วมครั้งแรกในชีวิตอยู่บ้านไม่เคยทำอะไรมีหน้าที่เรียนหนังสืออย่างเดียว แต่ก็ได้รับความเอ็นดูจากเจ๊หัวหน้าคนงาน เจ๊เป็นลูกคนจีนที่ขยันและเป็นต้นแบบที่ได้เรียนรู้การบริหารจัดการคนและงาน การที่พ่อส่งไปทำงานที่นี่ทำให้พบว่า เราเป็นเด็กที่มีโอกาสกว่าเด็กที่มาจากต่างจังหวัดซึ่งต้องทำงานหนักและเงินเดือนน้อย ทำให้เกิดแรงบันดาลใจมีความมานะในการเรียนมากขึ้น เงินที่ได้เดือนแรกจำได้ว่า เอาไปซื้อตุ้มหูทองคำน่าจะหนึ่งสลึง เวลาทำงานเก็บเงินได้ก็จะเอาไปซื้อทองฝากแม่ไว้ ทุกปีเมื่อหยุดเทอมใหญ่ไปทำงานที่โรงงานนี้ทุกปี จนกระทั่งเข้ามหาวิทยาลัย

การเก็บเงินในช่วงแรกของการทำงานเป็นการซื้อทอง และเมื่อต้องการใช้เงินเช่น ซื้อบ้านใหม่ ซ่อมบ้าน ซื้อหรือซ่อมรถ ก็จะขายทอง ส่วนตัวคิดว่าการซื้อบ้านเป็นการเก็บเงิน การผ่อนบ้านไม่ใช่เรื่องเสียหาย แต่ควรผ่อนให้หมดเร็วที่สุดเพื่อลดภาระหนี้ ของใช้ของตกแต่งภายในบ้านควรใช้ของดีทนทาน เช่น เฟอร์นิเจอร์ไม้จริงพบว่าดีมากโดยเฉพาะเมื่อเกิดน้ำท่วมเฟอร์นิเจอร์ใหญ่จะเห็นได้ว่าเฟอร์นิเจอร์ไม้ยังคงอยู่ โดยเฉพาะไม้สักปลวกก็ไม่กินเนื้อไม้ได้ กินแต่หนังสือ ไม้นี้คิดว่าน่าจะเก็บได้เป็นร้อยปี ยิ่งเก่ายิ่งสวย โชคดีที่ชอบซื้อเฟอร์นิเจอร์ไม้สัก การซื้อรถไม่ใช่การลงทุน เป็นของที่ซื้อเพื่อใช้สอยดังนั้นไม่ควรซื้อรถที่มีราคาแพงเกินความจำเป็น ไม่ต้องแต่งเติมเกินความจำเป็น เอาแค่มีล้อและองค์ประกอบพื้นฐาน ราคาเหมาะสมหาที่ซ่อมและอะไหล่ง่าย เสียที่ไหนก็มีคนซ่อมเป็น ใช้ซัก 8 ปีก็ซื้อใหม่

เก็บเงินในออมทรัพย์เท่าที่ต้องใช้สอยและมีใช้จ่ายเมื่อยามจำเป็นเร่งด่วน เช่น หากป่วยไข้ไม่สบาย ต้องซ่อมรถ ซ่อมบ้าน เป็นต้น 

เงินส่วนหนึ่งที่เป็นเงินเย็น ให้เงินไปทำงานโดยการลงทุน แต่ต้องย้ำด้วยว่าการลงทุนมีความเสี่ยง เสี่ยงมากจนอาจหมดตัว เงินที่จะลงทุนจำนวนนี้ควรเป็นเงินที่เป็นส่วนนอกเหนือจากที่ซื้อทองและมีบ้านและรถแล้ว ห้ามกู้มาลงทุนเด็ดขาด การลงทุนต้องทำหลายๆแบบ เช่น ซื้อบ้าน ซื้อทอง ซื้อกองทุน ซื้อประกันสะสมทรัพย์ ซื้อหุ้น 

ตลาดหุ้นมีความผันผวนมากต้อง ดูสภาพการณ์ของเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ทั้งในระดับประเทศและสากล รวมทั้งการปล่อยข่าวต่างๆ ต้องจับลู่ทางว่าตอนนี้เขาฮิตอะไรกัน นโยบายรัฐบาลว่าอย่างไร  บริษัทนั้นมีแนวโน้มว่าจะเจ๊งหรือว่าเติบโต มีปันผลไหม มีเดือนอะไร และต้องบันทึกรายได้จากการลงทุน

ไม่โลภและอย่าเชื่อใครว่า เขาจะทำให้เงินเราโต การลงทุนต้องลงทุนในตลาดหลักทรัพย์หรือธนาคารที่มีความมั่นคง ไม่ใช่จากบุคคล

เมื่อประเมินว่า เราต้องเสียภาษีในแต่ละปีเท่าไหร่ จะทำอะไรที่นำมาลดหย่อนภาษีได้บ้างก็ทำไป  การทำประกันสะสมทรัพย์ทำได้นิดหน่อยทำเพื่อลดหย่อนภาษี ก่อนทำควรประเมินก่อนว่าเรามีปัญญาส่งให้ครบไหม ไม่ควรทำระยะยาว เพราะหากสถานะรายได้เปลี่ยนแปลงเราส่งประกันไม่ไหวและต้องยกเลิกการคันจะเสียประโยชน์

ต้องยึดในหลักการไม่ยืมเงินใคร โดยเฉพาะเงินกู้นอกระบบ พวกลิสซิ่ง ไม่รูดบัตร หรือใช้เงินโดยไม่คิด

ไม่ให้ใครยืมเงิน ไม่ไปค้ำประกันให้ใคร รักกันแค่ไหน เรื่องเหล่านี้จะทำให้เราเสียเพื่อน เสียความรู้สึก และเสียใจ
ภายหลัง ใครจะว่าอย่างไรก็ช่างเขา เพราะเวลาที่เดือดร้อนไม่มีใครช่วยเราหรอก

ไม่ต้องรวยมาก แค่มีเงินทองใช้สอยไม่ขาดมือ ไม่เป็นหนี้ใคร ไม่ให้ใครเป็นหนี้เรา

หลักการเหล่านี้บางคนอาจว่า ว่าเป็นคนเห็นแก่ตัว ใช่เห็นแก่ตัวเพราะไม่อยากให้ตัวเองเดือดร้อนจ้า
*********************************************************************************
  
  

วันศุกร์ที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2562

Counselor ผู้ให้คำปรึกษา


ผู้ให้คำปรึกษา (Counselor-co)

การให้คำปรึกษา (Counseling) เป็นกระบวนการที่เมื่อบุคคลมีปัญหา หาทางออกไม่เจอ บุคคลนั้นอาจต้องการใครซักคนที่สามารถพูดคุย อย่างน้อยก็เพื่อระบายความอัดอั้นตันใจ หากไม่ได้รับการพูดคุยปรึกษาที่เหมาะสม อาจท้อแท้ หาทางออกไม่เจอ สิ้นหวัง จนอาจคิดฆ่าตัวตายได้ ดังนั้น การมีทักษะในการให้คำปรึกษาจึงเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับทุกคน

การให้คำปรึกษา เป็นกระบวนการสื่อสาร ระหว่างผู้ให้คำปรึกษา (Counselor-co) และ ผู้รับคำปรึกษา (Client-cl) โดยการพบปะพูดคุย (face to face) ซึ่งเป็นวิธีการที่ดีที่สุด เพื่อ
1.     เพื่อให้ข้อมูล (Provide knowledge/information)
2.     เพื่องานป้องกันและส่งเสริมสุขภาพ (Prevention and health promotion)
3.     เพื่อการรักษา (Intervention/treatment)
4.     เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม (Behavior change)
5.     สร้างเสริมศักยภาพที่มีอยู่ในแต่ละบุคคล (Empowerment)
6.     เพื่อฟื้นฟูร่างกายและจิตใจ (Rehabilitation)
7.     เพื่อบูรณาการ (Integration) ผสมผสานหลายๆอย่าง

สำหรับผู้ให้คำปรึกษา (Counselor-co) การเตรียมความพร้อมในการทำ Counseling
1.     ต้องเริ่มจากตัวบุคคล-บุคลากร ผู้ให้คำปรึกษา (Counselor-co)
1.1  ต้องมีความรู้ความเข้าใจในหัวข้อที่จะให้คำปรึกษา (Knowledge base) หรือมีแหล่งความรู้ (resource)
1.2  มีศักยภาพพื้นฐาน (Competency base) ในการเปลี่ยนแปลงแก้ไขพฤติกรรม (Change behavior) และ การปรับเปลี่ยนความเข้าใจ (Change cognitive) ของแต่ละบุคคลที่เข้ามารับคำปรึกษา
1.3  มีความชำนาญพื้นฐาน (Skill base) ที่ได้จากการฝึกหัดและเรียนรู้จากประสบการณ์ ทำมากก็มีความชำนาญมาก
2.     เนื้องาน counseling – รู้แนวคิดหลักของการให้คำปรึกษา (key concept) เช่น HIV testing counseling ก็ต้องรู้เรื่อง โรค วิธีการตรวจ ผลการตรวจ ผลได้ผลเสียที่จะเกิดเมื่อผลการตรวจออกมา เป็นต้น
3.     การเข้าใจ clients – มีความเข้าใจภูมิหลัง วัยวุฒิ ศักยภาพในการแก้ปัญหาและความต้องการของผู้รับคำปรึกษา ไม่มีอคติ (ทำตัวเป็นกลาง neutral ไม่ตัดสิน) 

ข้อควรระวังสำหรับผู้ให้คำปรึกษา
            §  ควรแต่งกายสุภาพ ไม่ลำลองจนเกินไปซึ่งเป็นการเสียมารยาทและอาจเป็นการไม่ให้เกียรติผู้รับบริการ
§  ไม่ควรสวมเครื่องประดับเกินความจำเป็น ไม่ทาสีเล็บมือไม่แต่งหน้าจัดเพื่อไม่ให้เกิดการดึงความสนใจ ไม่เกิดการเปรียบเทียบ ไม่สร้างความแตกต่าง สร้างความรู้สึกกลางๆระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ
§  ควรปิดมือถือก่อนทำงานทุกครั้ง อย่างน้อยก็ปิดเสียง และควรสังเกตหากผู้รับบริการวางโทรศัพท์มือถือของเขาบนโต๊ะเพราะอาจมีการรับบริการอัดเสียงการสนทนาโดยเราไม่รู้ตัว
§  ไม่ควรเล่น smart phone ระหว่างให้คำปรึกษา ควรให้ความสนใจกับการสนทนากับผู้รับคำปรึกษา
§  มี eye contact กับผู้รับคำปรึกษา ไม่ใช่มัวแต่ตั้งหน้าตั้งตาจดบันทึก หรือใส่ข้อมูลใน computer
§  นำเทคนิคกุญแจ  11 ดอกของท่านอาจารย์ทิพาวดี เอมะวรรธนะ (11 Keys for counseling) มาใช้ตลอดการสนทนา



§  ใช้ความชำนาญในการติดต่อสื่อสาร (Communication skill)
-        ระมัดระวังภาษากาย เข่น การชักสีหน้า มองลอดแว่น การถอนหายใจ นั่งกอดอก นั่งไขว้ห้าง กระดิกเท้า กดปากกาเล่น พูดโดยไม่มองหน้าหรือสบสายตา แต่ก็ไม่ใช้สายตาบังคับหรือจิกตา
-        หลีกเลี่ยงคำว่า ทำไมเพราะผู้รับคำปรึกษาอาจไม่สะดวกใจ หรือ อึดอัด
-        ควรใช้คำถามปลายเปิด (Open ended question) เพื่อผู้รับคำปรึกษา จะได้บอกความรู้สึก หรือ พูดคุยได้มากขึ้น

ผู้ให้คำปรึกษา ต้องรับฟังอย่างไม่มีอคติ ผู้รับคำปรึกษาควรเป็นผู้คิดแก้ปัญหาด้วยตนเอง เราแค่รับฟังให้เขาได้พูด จนเข้าใจถึงเหตุปัจจุัยที่ทำให้เกิดปัญหานั้นๆ เขาอยู่ในสิ่งแวดล้อมนั้น เขาคิดว่าควรแก้อย่างไร แล้วให้ลองกลับไปทำ เมือกลับมาคุยครั้งหน้าก็มาดูกันว่าปัญหานั้นๆแก้ได้ไหม ดีขึ้นไหม ถ้าไม่ได้จะทำอย่างไรต่อ
หลักการทางศาสนาพุทธ อริยสัจ 4 นับว่าเป็นหลักการที่ดีมากในการแก้ปัญหาต่างๆอย่างดี 

  • ทุกข์ ปัญหาของผู้รับคำปรึกษามีอะไร 
  • สมุหทัย สาเหตุของปัญหา เกิดจากอะไร
  • นิโรธ ปัญหาทุกปัญหาแก้ได้ แต่จะแก้อย่างไรดี หาทางแก้ไข
  • มรรค นำแนวทางที่คิดได้ ว่าจะทำอย่างไร ไปทำ 

ทั้งหมดนี้ผู้รับคำปรึกษาต้องเป็นผู้คิดเอง ทำเอง

วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2562

Working Age ช่วงวัยทำงาน


ช่วงวัยทำงาน (Working Age)
ช่วงชีวิตที่ยาวที่สุดของคนเราน่าจะเป็น ช่วงวัยทำงาน เริ่มตั้งแต่จบปริญญาตรีที่อายุประมาณ 20 - 60 ปี  = 40 ปี  เลยทีเดียว หากไม่ได้เรียนต่อปริญญาโท/เอก   กว่าเราจะผ่านมันไปได้    ให้ชีวิตเราดี   มันเป็นเรื่องไม่ใช่ง่ายสำหรับคนๆหนึ่ง  สิ่งที่เรามักจะเจอบ่อยๆ ก็คือ ปัญหาการทำงาน โดยเฉพาะกับบุคคลรอบข้าง

เหนือตัวเรา คือ หัวหน้างาน ซึ่งแต่ละคน ที่ได้เจอก็มีลักษณะ นิสัย เป้าหมายในการทำงานและความชำนาญไม่เหมือนกัน จากประสบการณ์ทำงานที่มีการปรับเปลี่ยนหัวหน้างานบ่อยมาก ใน 40 ปีน่ามีหัวหน้ามาแล้วมากกว่า 20 คน ดังนั้นเราเองต้องปรับตัวให้เข้ากับหัวหน้างานให้ได้ (ไม่ใช่ด้วยวิธีการประจบสอพลอ) เวลาทำงานให้คิดถึงความสำเร็จของงานเป็นอันดับแรกมากกว่าการเอาอกเอาใจหัวหน้า ให้จำไว้ว่าความสำเร็จของงานที่เราทำเป็นผลงานของเราและองค์กร หัวหน้าเป็นคนรับผลบุญจากเรา หัวหน้าบางคนที่ชอบใช้วาจาเหน็บแนม สอนงานไม่ได้ กรรโชกด้วยกิริยา ใช้วาจาและน้ำเสียงแหนบแนม อาจเป็นบุคลิกภาพของเขา คนแบบนี้มีปม น่าสงสาร ต้องเมตตาเขา ถ้าเขาทำได้คงไม่ต้องใช้เรา เราเก่งกว่าเขาเยอะเพราะเราทำได้และทำได้ดีใครๆก็รู้งานที่ทำเสร็จคือใครทำ เพียงแต่เปิดโอกาสให้ตัวเราเอง ได้แสดงศักยภาพโดยการพูดและเขียนรายงานงานที่เราทำ และให้หัวหน้าเหนือขึ้นไปรับทราบถึงผลงานเรา ทำอะไรก็โฆษณาตัวเองด้วย

สำหรับเพื่อนร่วมงาน หากเจอพวกไม่ช่วย แต่ชอบเนียนๆทำเป็นว่าร่วมทำด้วย ถ้าไม่ช่วยก็อย่าให้เขารู้ว่าเราทำอะไร อย่างไร ถ้าจะให้รู้ก็ตอนประชุม พร้อมๆกับคนอื่น หัวหน้าจะได้รู้ว่าเราทำคนเดียว อีเมล์แจ้งผลงานเมื่อทำเสร็จโดยเฉพาะเมื่อต้องทำงานดึกๆดื่นๆ ให้เขารู้กันบ้าง

เมื่อต้องทำงานที่ยาก ไม่มีพี่เลี้ยง ทำงานอยู่คนเดียว ไม่มีคนช่วย มีแต่คนมาถามว่าเสร็จเมื่อไหร่
เป็นเรื่องปกติที่คนไหนทำงานได้ก็จะโดนใช้งานตลอด โดยเฉพาะงานยากๆ งานใหม่ๆ ที่ไม่มีใครอยากทำ
ให้คิดบวกว่าเราเป็นคนเก่ง และคิดว่าทุกงานเป็นการสร้างเสริมศักยภาพให้ตัวเราเอง เป็นการฝึกฝนตัวตน

สิ่งที่ต้องการในชีวิตคือ Work life balance ดังนั้นคิดจะเปลี่ยนงาน งานในฝัน คือ งานไม่กดดัน ไม่เครียด หัวหน้างานดี ก็บอกแล้วว่าเป็นงานในฝันจริงๆ ไม่มีหรอกที่จะดีอย่างนี้ ทุกงาน ทุกหน่วยงาน มีแรงกดดัน อุปสรรค อยู่ที่เราจะทน จะปรับตัวไหวไหม ถ้าไม่ไหวก็ต้องขยับขยาย มี 2 ทางเลือก อยู่กับย้าย

การประคับประคองชีวิต ให้ดำรงอยู่วัยทำงานของตัวเราเอง เวลาเกิดความเครียด แบบ 360 องศา ทั้งเรื่องงาน หัวหน้า เพื่อนร่วมงาน ครอบครัว (ลูก ผัว พ่อแม่พี่น้อง) เงินทอง
1. บางทีเราก็ต้องลองไปสอดส่องชีวิตคนที่ลำบากกว่าเราบ้าง เช่นไปเปิดท้ายขายของ แล้วมองคนรอบข้าง คนซื้อ คนขาย จะพบว่า มีคนมากมายที่ลำบาก ยากจนกล่าวเรา มีภาระและความทุกข์มากกว่าเรา เรานี้ดีกว่าเขามากนัก มีงานทำ มีเงินเดือน มีคนที่เรารักและเขารักเรา
2. ไปหาสิ่งแวดล้อมใหม่ๆ เช่น ไปเรียนวิชาชีพ วาดรูป ทำอาหาร ได้พบเพื่อนใหม่ ไปเรียน ป.โท ป.เอก
3. หาเวลาพักผ่อน เช่น ไปเที่ยว กินของดีๆ
4. นึกถึงคนที่เรารักและเขารักเรา
5. เตรียมตัวขยับขยาย
5.1 มัธยัสถ์ อดออม ระหว่างที่มีงานทำให้เก็บเงินไว้ด้วยในหลายๆแบบ ผ่อนบ้านผ่อนคอนโด ซื้อทอง ซื้อกองทุน ซื้อสลากออมทรัพย์ ซื้อประกันสะสมทรัพย์ ตามรายได้ที่เรามีส่วนหนึ่งไว้หักภาษี ส่วนหนึ่งเก็บไว้ใช้เมื่อขัดสน
ไม่เล่นการพนัน เล่นหวย หรือซื้อสลากกินแบ่งรัฐบาลเพราะรวยยาก ไม่ค้ำประกันใคร ไม่ให้ใครยืมเงิน ไม่ยืมเงินใคร ไม่หลงเชื่อพวกที่โทรศัพท์มาแล้วบอกว่าคุณคือคนพิเศษ (ที่เราจะเอาเงินจากคุณ)
5.2 หาความรู้ สะสมประสบการณ์จากการทำงาน สร้างชื่อเสียงให้ตัวเอง
5.3 หางานโยกย้าย เรียนต่อ หรือหางานใหม่เลย หากรู้ว่าอยู่ไม่ได้แน่ๆให้เตรียมตัวหางานใหม่ ไม่ต้องรีบลาออก อาจไปเรียนต่อในวิชาที่เราสนใจเราอาจจะได้พบช่องทางใหม่ๆ




บทความใหม่

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test ปัจจุบันนี้ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้านมีใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถอำนวยความสะดวกให้เราได้ตรวจโรค...

บทความแนะนำ