CRC Café : กรณี Jesse Gelsinger ผลประโยชน์ทับซ้อนในการวิจัยในคน

วันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

กรณี Jesse Gelsinger ผลประโยชน์ทับซ้อนในการวิจัยในคน


ผลประโยชน์ทับซ้อนในการวิจัยในคน กรณี เจสซี เกลซิงเกอร์ (Jesse Gelsinger)

เมื่อมีอายุได้ 2 ปี เจสซี เกลซิงเกอร์ พบว่าเป็นโรคพันธุกรรมเมตาบอลิก ที่มีภาวะขาดออร์นิธีน ทรานสคาร์บามิลเลส [Ornithine transcarbamylase (OTC) deficiency] ในระดับปานกลางมาแต่กำเนิด ถึงแม้จะเป็นโรคหายาก (Rare diseases) แต่ทารกส่วนใหญ่ที่มีภาวะนี้จะเป็นแบบรุนแรงและมักเสียชีวิตตั้งแต่แรกเกิด  เพราะออร์นิธีน ทรานสคาร์บามิลเลสเป็นกรดอะมิโนชนิดหนึ่งที่ช่วยเสริมสร้างกล้ามเนื้อและกำจัดสารพิษออกจากตับ 

อย่างไรก็ตาม เจสซี เกลซิงเกอร์มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการรับประทานอาหารที่มีโปรตีนน้อย และกินยาอีกประมาณ 50 เม็ดต่อวัน จนกระทั่งในปี 1999 เมื่อเจสซี เกลซิงเกอร์ อายุ 18 ปี เขาได้ถูกชักชวนให้เข้าร่วมโครงการวิจัยยีนบำบัด (Gene therapy) ที่สถาบันยีนบำบัดในคน (Institute of Human Gene Therapy: IHGT)  มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย  โดยการฉีด Adenovirus ที่เป็นพาหะ (Vector) นำยีนส์ OTC ปกติเข้าสู่ร่างกาย

ทั้งนี้เพราะได้รับการชี้นำว่า โครงการวิจัยนี้มีความเสี่ยงน้อย ความรู้ที่ได้จะนำไปพัฒนาการรักษาสำหรับทารกที่เกิดมามีภาวะนี้ เขาและพ่อไม่ได้รับข้อมูลการเกิดอาการไม่พึงประสงค์ในลิงและอาสาสมัครที่เข้าโครงการมาก่อนหน้านี้ และมีเพียงข้อความเล็กๆในเอกสารแนะนำที่มีถึง 11 หน้าว่า ดร.วิลสันผู้อำนวยการ IHGT, IHGT และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียจะได้รับผลประโยชน์เมื่อการวิจัยสำเร็จ ซึ่งเจสซี เกลซิงเกอร์และพ่อไม่เข้าใจกับคำว่า ผลประโยชน์ คืออะไร หรือมันอาจจะเป็นเงินหลายๆล้านดอลล่าห์

หลังจากเข้าร่วมโครงการและฉีดยีนส์เพื่อการบำบัดได้ 4 วัน เจสซี เกลซิงเกอร์เสียชีวิต  และเรื่องราวของเขาได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณชน กลายเป็นคดีจริยธรรมวิจัยที่เกิดจากการมีผลประโยชน์ทับซ้อนที่โด่งดังในสหรัฐอเมริกา มีบันทึกจดหมายเตือนของ US FDA ฉบับวันที่ 30 มีนาคม ค.ศ. 2000 และ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 สรุปได้ว่า

US FDA ได้ทำการสอบสวนและพบว่า ดร.เจมส์ วิลสันผู้อำนวยการสถาบันยีนบำบัดในคน สถาบันยีนบำบัดในคนและมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนียอยู่ในฐานะผู้ให้ทุนและผู้วิจัยที่ต้องรับผิดชอบให้การวิจัยดำเนินการตามมาตรฐาน ได้ละเมิดกฎระเบียบและมีความบกพร่องในหน้าที่ได้แก่

สถาบันยีนบำบัดในคนบกพร่องในการจัดการด้านสิ่งอำนวยความสะดวกในการดำเนินการวิจัย ได้แก่ 
  • ผู้อำนวยการมีความบกพร่องในหน้าที่ความรับผิดชอบในฐานะที่เป็นทั้งผู้ให้ทุนและผู้วิจัยร่วม 
  • ไม่มีหน่วยประกันคุณภาพที่มีประสิทธิภาพพอที่จะตรวจสอบความบกพร่องของผู้วิจัย 
  • ดำเนินการทดลองอย่างไม่เหมาะสม 
  • ขาดการอบรมให้ความรู้แก่เจ้าหน้าที่ในทีมวิจัยในเรื่องหน้าที่และความรับผิดชอบดังจะเห็นได้จากการเกิดการเบี่ยงเบนโครงร่างการวิจัย 
  • ขาดการแก้ไขการเบี่ยงเบนโครงร่างการวิจัยและไม่ส่งรายงานบันทึกการแก้ไขในกรอบเวลาที่กำหนด

ในฐานะผู้ให้ทุน ผู้อำนวยการและสถาบันยีนบำบัดในคน มีความบกพร่องหน้าที่ความรับผิดชอบ ได้แก่ ขาดมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับดำเนินการวิจัยทางคลินิก ไม่ได้ให้ข้อมูลที่จำเป็นในการทำวิจัยที่เหมาะสมกับผู้วิจัย บกพร่องในการกำกับดูแลการทำวิจัยและการเลือกสรรผู้ทำหน้าที่นี้

ในฐานะผู้วิจัย โครงการวิจัยมีความบกพร่องร้ายแรง ได้แก่
·      รับอาสาสมัครที่มีคุณสมบัติไม่ตรงเกณฑ์คัดเข้าและคัดออกเข้าร่วมโครงการ เช่น
รับเจสซี เกลซิงเกอร์เข้ามาแทนคนที่หลุดออกจากโครงการ ทั้งๆที่มีค่าแอมโมเนียสูงซึ่งเป็นเกณฑ์คัดออก
·       ดำเนินการวิจัยไม่สอดคล้องกับโครงร่างการวิจัยฉบับอนุมัติ
·         ไม่ได้รายงานการแก้ไขโครงร่างการวิจัยต่อ FDA ก่อนดำเนินการวิจัย ตัวอย่างเช่น มีการเกณฑ์คัดกรองอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ โดย เปลี่ยนเกณฑ์คัดเข้าจาก Serum ammonia น้อยกว่า 50 ไมโครโมลา (ในฉบับที่ 1) เป็น น้อยกว่า 70 ไมโครโมลา (ในฉบับต่อๆมา)
·        ไม่มีรายงานว่าเกิดผลข้างเคียงร้ายแรงกับผู้ป่วย 2 รายจากการทำยีนบำบัด
·        ไม่มีรายงานการตายของลิงหลายตัวในการทำยีนบำบัดแบบนี้ใน IND safety report และ 
      เอกสารแนะนำอาสาสมัคร
·        ไม่มีการแก้ไขเอกสารแนะนำอาสาสมัครและใบยินยอมตามที่ US FDA ร้องขอ
·        บกพร่องในการจัดเก็บข้อมูลและตัวอย่างทีใช้ในการวิจัย
·        ไม่มีมาตรฐานการปฏิบัติงาน

US FDA ให้ยุติการวิจัยทั้งหมด ที่ สถาบันยีนบำบัดในคน มหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย

พ่อของเจสซี เกลซิงเกอร์ ฟ้องร้องผู้วิจัย เพราะผู้วิจัยไม่ได้เปิดเผยข้อมูลสำคัญที่เกี่ยวกับความเสี่ยงแก่เขาและเจสซี เกลซิงเกอร์ การวิจัยทางคลินิกนี้ทำให้เด็กชายวัยรุ่นที่มีสุขภาพดี สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยการควบคุมอาหารและการรับประทานยา และไม่มีความจำเป็นที่ต้องได้รับยีนบำบัดในการควบคุมโรคของเขา 

ดร.เจมส์ วิลสันผู้อำนวยการสถาบัน ซึ่งมีหุ้นอยู่ในบริษัทไบโอเทคโนโลยี่และจะได้รับผลประโยชน์จากผลสำเร็จในการวิจัยนี้โดยจะได้รายได้จากการนำยีนบำบัดไปรักษากับผู้ป่วยรายอื่นๆ หรือขายวิธีการนี้แก่ผู้วิจัยรายอื่น ดังนั้น ดร.เจมส์ วิลสัน เป็นผู้รับผิดชอบในฐานะผู้ให้ทุนและเป็นผู้วิจัยร่วม มีผลประโยชน์ทับซ้อนจนเกิดความบกพร่องในการทำวิจัยอาสาสมัครได้รับอันตรายถึงแก่ชีวิต ถูกลงโทษห้ามทำการวิจัย 5 ปี มหาวิทยาลัยจ่ายเงินชดใช้แก่ผู้ปกครองของเจสซี เกลซิงเกอร์ห้าหมื่นดอลล่าห์ และเขียนบทความเผยแพร่ข้อผิดพลาดจากการวิจัย เรื่อง “Lessons learned from the gene therapy trial for ornithine transcarbamylase deficiency” ตีพิมพ์ใน Molecular Genetics and Metabolism 96 (2009) หน้าที่ 151–157

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความใหม่

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test ปัจจุบันนี้ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้านมีใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถอำนวยความสะดวกให้เราได้ตรวจโรค...

บทความแนะนำ