CRC Café : อาสาสมัครวิจัย Subject

วันอังคารที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2563

อาสาสมัครวิจัย Subject


อาสาสมัครวิจัย (Subject)

การดำเนินการวิจัยทางคลินิกต้องประกอบด้วยบุคคลหลายๆฝ่าย (ดู ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในการทำวิจัย) ผู้วิจัยมีหน้าที่รับผิดชอบในการปกป้องสิทธิ ความปลอดภัยและความเป็นอยู่ที่ดีของอาสาสมัครวิจัย  รวมทั้งดำเนินงานวิจัยตามโครงร่างการวิจัย ส่วนผู้ให้ทุนวิจัยจะรับผิดชอบในการสนับสนุนงบประมาณ ออกแบบการวิจัย ติดต่อสื่อสารกับหน่วยควบคุมกฎระเบียบ และกำกับดูแลการวิจัย ทั้งหมดนี้เพื่อทำให้การวิจัยถูกต้องตามหลักสากลด้านจริยธรรมและการปฏิบัติวิจัยที่ดี

การระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนมีความตื่นตัวในการวิจัยทางคลินิกเพื่อให้ได้มาซึ่งความรู้เรื่องโรคและการป้องกัน โดยเฉพาะวัคซีน และจากการสืบค้นโครงการวิจัยที่ลงทะเบียนใน www.clinicaltrials.gov วันที่ 21 มิถุนายน 2563 พบว่า มีการวิจัยทางคลินิกที่กำลังดำเนินการอยู่ในประเทศไทยถึง 616 โครงการ โครงการเหล่านี้ต้องการอาสาสมัครวิจัยหลายแบบ ที่อาจเป็นคนที่มีสุขภาพดี หรืออาจเป็นผู้ป่วย การวิจัยทางคลินิกจะทำไม่ได้หากไม่มี อาสาสมัครวิจัย หรืออาสาสมัครวิจัยมีจำนวนไม่เพียงพอที่จะทำการวิเคราะห์ข้อมูลได้

เพื่อให้ผลงานวิจัยที่ได้มีคุณภาพ  ข้อมูลมีความน่าเชื่อถือ ในการดำเนินการวิจัยทางคลินิกจึงจำเป็นต้องมี อาสาสมัครวิจัย ในจำนวนที่เพียงพอตามที่กำหนดในโครงร่างการวิจัย

อาสาสมัครวิจัย (Subject หรือ Participant หรือ Study Subject หรือ Trial Participant) เป็นบุคคลผู้เข้าร่วมวิจัยทางคลินิก ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่ได้รับผลิตภัณฑ์ที่ใช้ในการวิจัย หรืออยู่ในกลุ่มเปรียบเทียบก็ตาม (ICH GCP 1.57)

โครงการวิจัยที่ต้องการอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี ได้แก่ โครงการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 วัคซีน 2019-nCoV (mRNA-1273) มักเป็นโครงการวิจัยเพื่อพัฒนาความรู้ใหม่ๆของโรคนั้นๆ วิธีการรักษา/การป้องกัน วิธีการตรวจทางห้องปฏิบัติการแบบใหม่ๆ เครื่องมือ/อุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดใหม่ ยาหรือวัคซีนชนิดใหม่ ซึ่งการวิจัยเหล่านี้อาจไม่เกิดประโยชน์กับผู้เข้าร่วมวิจัยโดยตรง แต่จะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม บางโครงการเรียนรู้ความเป็นไปของโรคโดยการเปรียบเทียบระหว่างผู้ป่วยกับผู้ที่มีสุขภาพดี

โครงการวิจัยที่ต้องการอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยได้แก่ การวิจัยระยะที่ 3 ยา XXXในผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ซึ่งเป็นการศึกษาชนิดและสูตรยาที่แตกต่างกันในหญิงที่มีเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ เป็นต้น การวิจัยแบบนี้จะช่วยให้เรามีความรู้ใหม่เรื่องโรค วินิจฉัยและการรักษาเพิ่มขึ้น คนที่รู้ตัวอยู่แล้วว่าเป็นโรคอะไร สามารถเข้าร่วมโครงการวิจัยเพื่อจะทำได้เข้าใจระดับสภาวะสุขภาพของตัวเอง ได้รับความรู้เรื่องโรค ได้รับการวินิจฉัยและ/หรือการรักษาแบบใหม่ การเข้าร่วมโครงการวิจัยอาจเกิดประโยชน์กับอาสาสมัครวิจัยไม่มากก็น้อย

โครงการวิจัยวัคซีนชนิดใหม่ เช่น วัคซีนโควิด-19 จะทำในผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพดีก่อน เมื่อประสบความสำเร็จใช้ได้ ก็จะทำการวิจัยเพื่อหาขนาดยาที่เหมาะสมในกลุ่มอื่น เช่น เด็ก ผู้สูงอายุ แล้วทำการศึกษาเพิ่มเติมในกลุ่มเสี่ยงอื่นๆ เช่น กลุ่มผู้ติดเชื้อ HIV ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ กลุ่มหญิงตั้งครรภ์ เป็นต้น

เราอาจพบการโฆษณาเชิญชวนการเข้าร่วมวิจัยตามเวปไซด์ หรือป้ายประกาศในคลินิกที่เราไปรักษาอยู่เป็นประจำ หรืออาจได้รับการบอกกล่าวจากเจ้าหน้าที่วิจัยโดยการโทรศัพท์มาหา หรือพูดคุยเมื่อไปที่คลินิก

การตัดสินใจเข้า หรือไม่เข้าร่วมโครงการนั้นขึ้นอยู่กับตัวเราเอง ไม่มีใครบังคับได้
มีเหตุผลมากมายที่ทำให้เราอยากเข้า หรือไม่อยากเข้าโครงการวิจัย

บางครั้งเราพบ ผู้ที่มีสุขภาพดี เข้าร่วมโครงการวิจัยยาชนิดใหม่ หรือวัคซีนชนิดใหม่ในระยะที่ 1 เพราะได้ค่าตอบแทนสูง ในต่างประเทศมีคนทำอาชีพเป็นอาสาสมัครวิจัยและมีรายได้ค่อนข้างดีทีเดียว และมีคนเป็นจำนวนมากอยากเข้าร่วมวิจัยเพราะคิดว่า เป็นการทำบุญทำกุศล เพื่อให้เกิดความรู้ ได้วิธีการป้องกันรักษาแบบใหม่ ที่มีประโยชน์ต่อสังคมส่วนรวม

ผู้ป่วยที่เข้าร่วมวิจัยส่วนใหญ่คิดว่า การเข้าร่วมวิจัยจะทำให้ได้รับการรักษาทางเลือกใหม่ ได้ใช้ยาใหม่ที่ทันสมัย ได้รับการบริการ การตรวจและการดูแลทางการแพทย์อย่างดี มีการตรวจสุขภาพและการตรวจทางห้องปฏิบัติการอย่างสม่ำเสมอตามกำหนดของโครงการและทำให้รู้เรื่องสภาวะสุขภาพของตนเอง ไม่เสียค่าใช้จ่าย แถมยังได้รับเงินค่าเสียเวลาและค่าเดินทางอีกด้วย

ปัจจัยอื่นๆที่มีผลทำให้บุคคลอยากเข้าร่วมโครงการวิจัย ได้แก่
-      ความร้ายแรงและความรุนแรงของโรคที่เป็น พยากรณ์โรค
-      ทัศนคติของผู้เข้าร่วมโครงการ
-      สัมพันธภาพที่มีกับแพทย์
-      การมีคุณสมบัติที่เหมาะสมในการเข้าโครงการ
-      ภูมิหลัง วัฒนธรรม ศาสนา รายได้
-      ที่ตั้งของสถานที่วิจัยและความสะดวกในการเดินทาง เช่น มีรถสาธารณะ มีที่จอดรถ ระยะทางไกล
    จากบ้านหรือไม่
-      คู่สมรสและครอบครัว ทราบและสนับสนุน

ปัจจัยที่มีผลทำให้บุคคลไม่อยากเข้าร่วมโครงการวิจัย ได้แก่
-   กลัว: กลัวเป็นหนูทดลอง กลัวเข็มเจาะเลือด กลัวเจ็บ กลัวผลข้างเคียง
-   ไม่มีเวลามาตามนัด
-   ไม่อยากเปิดเผยความลับความเป็นส่วนตัว

อย่างไรก็ตามต้องเข้าใจด้วยว่า การวิจัยทางคลินิก ไม่เหมือนการปฏิบัติทางการแพทย์ทั่วไปที่แพทย์เป็นผู้ดูแลตัดสินใจรักษาตามความรู้และประสบการณ์ เนื่องจากการวิจัยทางคลินิกนั้นแพทย์ผู้วิจัยต้องปฏิบัติตามโครงร่างการวิจัย

เมื่อได้รับการเชิญชวนและคิดว่ามีคุณสมบัติตามที่โครงการวิจัยกำหนดไว้ เราควรจะได้รับทราบข้อมูลเกี่ยวกับโครงการวิจัยอย่างละเอียดจากผู้วิจัย อ่านและทำความเข้าใจกับเอกสารแนะนำและใบยินยอม รับทราบสิทธิของการเป็นอาสาสมัครวิจัยตามคำประกาศเฮลซิงกิของแพทยสมาคมโลกและหลักจริยธรรมสากล
·      อาสาสมัครวิจัยควรได้รับประโยชน์จากการวิจัย ได้รับความยุติธรรมและเคารพความเป็นบุคคล
·      ได้รับการรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว
·      ได้รับการบอกกล่าว และ
·      ปลอดจากการถูกใช้อิทธิพลอย่างเกินควรที่อาจทำให้เข้าใจผิดในเรื่องความเสี่ยงและประโยชน์จากการเข้าร่วมวิจัย

ควรได้รับรู้เงื่อนไขต่างๆเช่น
·      ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการเข้าร่วมโครงการวิจัย โอกาสที่จะเกิดความเสี่ยง/ผลข้างเคียง ระดับของความเสี่ยง เช่น โครงการนี้มีความเสี่ยงน้อยมาก หรือเมื่อเกิดก็หายไปอย่างรวดเร็ว  ความไม่สะดวกสบายที่อาจได้รับ ความเจ็บปวดจากกิจกรรมวิจัยที่เป็นหัตถการต่างๆ เช่น การเจาะเลือด หรือการซักถามสัมภาษณ์ในเรื่องส่วนตัว เช่น พฤติกรรมทางเพศ การใช้สารเสพติด
·      ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับในระยะสั้นและระยะยาว
·      พิจารณาความเสี่ยงและประโยชน์ที่เข้าร่วมวิจัย ก่อนจะตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ หากยังไม่กระจ่างก็เอากลับปรึกษาเพื่อนฝูงญาติพี่น้องหรือแพทย์ประจำตัวก่อน ไม่ต้องรีบตัดสินใจ
·      กำหนดเวลาที่ต้องอยู่ร่วมในโครงการวิจัย กำหนดนัดต่างๆ บางโครงการคุณอาจเสียเวลามาตามนัดเล็กน้อย แต่บางโครงการอาจต้องใช้เวลาเป็นวันๆ ในการทำกิจกรรมวิจัย
·      อาสาสมัครวิจัยมีสิทธิที่จะรู้ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นในโครงการ ข้อมูลใหม่ๆที่เกิดขึ้นกับโครงการ

ก่อนเป็นอาสาสมัครวิจัยควรสอบถามข้อสงสัย หรือสิ่งที่มีความวิตกกังวลหากเข้าร่วมโครงการกับผู้ขอความยินยอม จนได้รับคำตอบที่พึงพอใจและเข้าใจ

ก่อนลงนาม ต้องรู้ว่า วัตถุประสงค์ของโครงการนี้คืออะไร เหตุใดผู้วิจัยจึงคิดว่าวิธีการนี้มีประสิทธิภาพดีกว่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน ใครให้ทุนทำวิจัย ใครอนุมัติให้ทำโครงการ จะมีการติดตามผลการรักษาและความปลอดภัยของอาสาสมัครอย่างไร ใช้เวลาเท่าไรจึงเสร็จ อาสาสมัครต้องทำอะไรบ้าง ความเสี่ยงและผลข้างเคียงระยะสั้นและระยะยาวมีอะไรบ้าง ใครจะเป็นคนบอกผลการวิจัยกับฉันและจะทำอย่างไร หากไม่เข้าโครงการนี้มีทางเลือกอื่นๆไหม ข้อความที่แสดงถึงการรักษาความลับ การดูแลชดเชยในการรักษาทางการแพทย์ บุคคลที่สามารถติดต่อได้เมื่อมีปัญหาหรือต้องการออกจากการวิจัย และข้อความยืนยันการเข้าร่วมโดยสมัครใจ ทั้งนี้อาจมีข้อมูลอื่นเพิ่มเติมได้ตามความเหมาะสม เช่น ความรับผิดชอบของผู้เข้าร่วม ฯลฯ

ผู้วิจัยจะขอความยินยอมจากอาสาสมัครโดยให้อาสาสมัครลงนามในเอกสารขอความยินยอม

แล้วจึงเริ่มทำกิจกรรมที่เป็นการวิจัยลำดับแรก คือ การคัดกรอง ว่า อาสาสมัครมีคุณสมบัติที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้หรือไม่ โดยการซักประวัติ วัดสัญญาณชีพ ตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ เช่น ตรวจการตั้งครรภ์ในหญิงวัยเจริญพันธ์ หรืออื่นๆตามที่โครงการวิจัยกำหนด

หากอาสาสมัครมีสมบัติตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด (Eligibility Criteria) ทั้งเกณฑ์คัดเข้า (Inclusion Criteria) และ เกณฑ์คัดออก (Exclusion Criteria) อาสาสมัครจึงสามารถเข้าร่วมโครงการวิจัย (Enrollment) นั้นๆได้ เกณฑ์เหล่านี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ ได้แก่ อายุ เพศ ชนิดและระดับสภาวะของโรค ประวัติการรักษา และสภาวะทางการแพทย์อื่นๆ ก่อนเข้าร่วมโครงการอาสาสมัครต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง เพื่อทำให้ทีมวิจัยสามารถตัดสินได้ว่าอาสาสมัครจะมีความปลอดภัยเมื่อเข้าร่วมโครงการหรือไม่

หากเป็นโครงการที่เกี่ยวกับยา หรือวัคซีน อาจมีการสุ่มเลือกว่าคุณจะเข้าไปอยู่กลุ่มไหน กลุ่มที่ได้ยาวิจัย หรือกลุ่มที่ได้ยาหลอก หรือแต่ละกลุ่มจะได้ขนาดยาที่แตกต่างกัน ทั้งนี้แพทย์ผู้วิจัยและ/หรืออาสาสมัครอาจรู้หรือไม่รู้ว่า กลุ่มที่อาสาสมัครอยู่ได้รับยาอะไร หรือขนาดเท่าไรก็ได้
มาตามกำหนดนัดวิจัย อาจกำหนดนัดเป็นวัน เช่น วันที่ 1, 3, 5, 7, 14, 28, 180, 365 เป็นต้น หรือสัปดาห์ละครั้ง หรือเดือนละครั้ง ซึ่งอาจมีกิจกรรมวิจัยที่เหมือนกัน หรือแตกต่างกันตามที่กำหนดในโครงร่างการวิจัย เช่น ซักประวัติความเจ็บป่วยในช่วงที่ผ่านมา ตรวจร่างกาย ตรวจทางห้องปฏิบัติการ คืน/นับ/รับยาวิจัย ตอบแบบสอบถาม หรืออื่นๆ

การติดตาม ทีมวิจัยอาจโทรศัพท์ติดต่อสอบถามความเจ็บป่วย หรือนัดเข้ามาเพิ่มเติมนอกเหนือจากนัดวิจัยปกติ เช่น เมื่อผลทางห้องปฏิบัติการพบความผิดปกติ

ก่อนการเข้าร่วมโครงการวิจัย เราควรตรวจสอบว่า โครงการวิจัยนี้มีความน่าเชื่อถือหรือไม่ โดยดูว่า ได้รับการพิจารณาและอนุมัติจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัย หรือไม่ ที่ไหน เมื่อไหร่ และตรวจสอบข้อมูลการวิจัยที่มีการลงทะเบียนในเวปไซด์การวิจัยทางคลินิก เช่น https://www.anzctr.org.au/ https://www.clinicaltrials.in.th/, https://clinicaltrials.gov/

เมื่อเข้าร่วมวิจัยอาสาสมัครวิจัยเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ข้อมูลวิจัยออกมาถูกต้อง โดย
·      ควรมีความเชื่อถือในทีมวิจัย
·      ปฏิบัติกิจกรรมต่างๆตามที่โครงการวิจัยกำหนด เช่น หากโครงการวิจัยให้กินยาวิจัย 3 เวลา หลังอาหารครึ่งชั่วโมง เป็นเวลา 3 วัน อาสาสมัครก็ต้องปฏิบัติตามนั้น  รวมทั้งต้องมาตามกำหนดนัดทุกครั้ง  
·      รายงานอาการไม่พึงประสงค์ต่างๆที่เกิดขึ้นให้ทีมวิจัยรับทราบ
·      หากมีการเปลี่ยนแปลงข้อมูลส่วนบุคคลใดๆ เช่น ย้ายบ้าน ย้ายงาน เปลี่ยนเบอร์โทรศัพท์ ก็ต้องรายงานทีมวิจัยเช่นกัน
·      ให้ข้อมูลที่เป็นจริง เช่น ไม่สบายไปซื้อยากินเอง

อย่าลืมว่า การตัดสินใจเข้าร่วมโครงการวิจัยต้องเป็นไปด้วยความสมัครใจของตัวท่านเอง
เมื่อเข้าโครงการวิจัยแล้วควรให้ความร่วมมือปฏิบัติตามคำแนะนำของทีมวิจัย และอยู่ในโครงการวิจัยจนครบกำหนด อาสาสมัครวิจัยเป็นหัวใจสำคัญจะทำให้ผลงานวิจัยที่ได้มีคุณภาพและข้อมูลมีความน่าเชื่อถือมากที่สุด

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความใหม่

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test ปัจจุบันนี้ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้านมีใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถอำนวยความสะดวกให้เราได้ตรวจโรค...

บทความแนะนำ