CRC Café : Phase I Clinical Trials การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1

วันจันทร์ที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2563

Phase I Clinical Trials การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1


การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 (Phase I Clinical Trials)

การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 เป็นการเริ่มต้นพัฒนายาใหม่ในคนเป็นครั้งแรก โดยมุ่งศึกษาเรื่องความปลอดภัยของยาเป็นหลัก  และหาข้อมูลเบื้องต้นของยาเมื่อนำมาใช้ในคน มักทำในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีแต่บางครั้งก็ทำในผู้ป่วยที่ต้องรักษาด้วยยานั้นๆโดยตรงเลย จำนวนที่รับมีจำนวนน้อยประมาณ 20-100 คน

จุดมุ่งหมายของการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 เพื่อดูว่า ยาจะอยู่ในร่างกายคนได้นานขนาดไหน ดูตั้งแต่การดูดซึมยา(absorption)  การกระจายยาไปตามส่วนต่างๆของร่างกายคน(distribution) กระบวนการเผาผลาญของยา (metabolism) และการกำจัดยาออกจากร่างกายคน(excretion) ที่เรียกว่าเภสัชจลนศาสตร์ (Pharmacokinetics) และดูผลจากการใช้ยาในขนาดต่างๆด้านความปลอดภัย ดูขนาดยาที่น้อยที่สุดที่ใช้รักษาได้และขนาดยาที่มากที่สุดที่ให้โดยปลอดภัยและดูอาการไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้น

เนื่องจากเป็นการศึกษาครั้งแรกในคน อาสาสมัครต้องได้รับการดูแลอย่างใกล้ชิด เช่น อาจให้อาสาสมัครนอนในโรงพยาบาล หรือมีนัดวิจัยถี่ มีการเก็บตัวอย่างไปทดสอบค่อนข้างเยอะและถี่ เช่น เจาะเลือดค่อนข้างถี่ ดังนั้นการกำกับดูแลการวิจัยต้องทำอย่างใกล้ชิด ความปลอดภัยของอาสาสมัครเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุดของการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1

การประเมินสถานที่วิจัยสำหรับการวิจัยทางคลินิกระยะที่1

อาสาสมัคร ให้ดูว่าที่สถานที่วิจัยนั้นๆมีอาสาสมัครที่คุณสมบัติที่จะเข้าโครงการไหม
อาสาสมัครบางครั้งอาจเป็นผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการมาตรฐานปกติ เช่น ผู้ป่วยมะเร็ง เมื่อมีโครงการวิจัยยาใหม่มาเป็นทางเลือกจึงยินดีเข้าร่วมโครงการ

บางสถานที่วิจัยมีประสบการณ์ในการทำการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 และมีอาสาสมัครที่มีสุขภาพดีที่พร้อมที่จะเข้าโครงการวิจัย ในต่างประเทศถือเป็นอาชีพเลย ในประเทศไทยก็จะมีเหล่าวินมอเตอร์ไซค์ ทหาร นักศึกษา เป็นอาสาสมัครที่คุ้นเคยกัน แต่ต้องระวังไม่ให้อาสาสมัครอาชีพเหล่านี้ไปเข้าโครงการวิจัยพร้อมกันหลายๆที่ หรือไม่มีช่วงหยุดพักก่อนเปลี่ยนวิธีรักษา ที่เรียกว่า washout period และ

ควรคำนึงถึงสุขภาพและอันตรายที่จะเกิดกับอาสาสมัครเป็นสำคัญ

ทีมวิจัย มีบุคลากรทำวิจัยเพียงพอ เนื่องจากการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 มีการเก็บข้อมูลละเอียด กิจกรรมวิจัยมากโดยเฉพาะการการให้ยาวิจัย วัดสัญญาณชีพ การเก็บตัวอย่างจากอาสาสมัครที่มีเวลากำหนดที่ชัดเจน นัดวิจัยถี่ ทีมวิจัยต้องมีความรู้ ความเข้าใจในโรคและยาที่ทำวิจัย เอาใจใส่และทำตามข้อกำหนดต่างๆโดยเฉพาะในโครงร่างการวิจัย รวมทั้งต้องมีเวลาทำงานวิจัย

สถานที่และเครื่องมืออุปกรณ์ มีอย่างเพียงพอและได้มาตรฐาน โดยเฉพาะอุปกรณ์เครื่องมือที่ถูก
กำหนดในโครงร่างการวิจัยนั้นๆ เช่น
- มีที่เก็บตัวอย่างและผลิตภัณฑ์วิจัยต้องมีที่พอ มีสิ่งแวดล้อม เช่น อุณหภูมิที่เหมาะสม 
- มีหอผู้ป่วย หรือมีห้องที่อาสาสมัครจะไปนอนเมื่อเข้าโครงการวิจัย หรือทำกิจกรรมวิจัย
- มีมาตรฐานการปฏิบัติงานสำหรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินและมีอุปกรณ์ช่วยเหลือพร้อมหากเกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น emergency cart, oxygen, suction, ECG เป็นต้น
- มีสำนักงานวิจัย เพื่อเก็บเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัย ลงข้อมูล และให้ผู้กำกับดูแลการวิจัยไปนั่งตรวจเอกสาร หรือประชุมกันในทีมวิจัย
- สถานที่ตั้งสะดวกแก่การเดินทาง หรือมีระบบการส่งต่อผู้ป่วยไปยังโรงพยาบาลอื่นหากมีเหตุฉุกเฉิน

เมื่อการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 เสร็จสิ้นและมีข้อมูลด้านความปลอดภัยเพียงพอ การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 ที่จะมีความเข้มข้นและมีการควบคุมเป็นอย่างดีจึงเริ่มต้นขึ้น หากการวิจัยระยะที่ 1 ยังได้ข้อมูลไม่เพียงพอ อาจต้องทำใหม่ในขนาดยาที่เพิ่มขึ้น หรือลดลงตามความเหมาะสม





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความใหม่

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test ปัจจุบันนี้ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้านมีใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถอำนวยความสะดวกให้เราได้ตรวจโรค...

บทความแนะนำ