CRC Café : พฤษภาคม 2021

วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

คณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชน Community Advisory Board: CAB

คณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชน Community Advisory Board: CAB 

แนวทางจริยธรรมสากลสำหรับการวิจัยในมนุษย์ ฉบับที่ 4 ปี 2016 โดย สภาองค์การสากลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (the CIOMS Ethical Guidelines for Biomedical Research by the Council for International Organizations of Medical Sciences (CIOMS2016) ISBN 978-929036088-9) ได้กล่าวถึง การมีส่วนร่วมของชุมชน (Community engagement) ว่า ผู้วิจัย ผู้ให้ทุนวิจัย หน่วยงานด้านสาธารณสุขและสถาบันที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับผู้ที่คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการและชุมชน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมที่มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงร่างการวิจัย ออกแบบการวิจัย/วิธีดำเนินการวิจัย ออกแบบกระบวนการขอความยินยอม กำกับดูแลการวิจัย และเผยแพร่ผลการวิจัย ตั้งแต่เริ่มต้นทำวิจัยและต่อเนื่องตลอดโครงการวิจัย 

การมีส่วนร่วมของชุมชนจะช่วยทำให้มั่นใจว่า การวิจัยจะเกิดคุณภาพและมีความสำเร็จทั้งทางด้านจริยธรรมและวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังช่วยให้ทีมวิจัยเข้าใจและเห็นคุณค่าของการวิจัย ส่งเสริมศักยภาพชุมชนให้เข้าใจกระบวนการวิจัย เปิดโอกาสสมาชิกในชุมชนได้ซักถามคำถามหรือข้อสงสัย สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างชุมชนกับนักวิจัย ช่วยให้การทำวิจัยราบรื่นและประสบความสำเร็จ      

ชุมชน (Community) เป็นการรวมตัวกันของบุคคลที่อาจมีลักษณะภายนอกไม่เหมือนกัน แต่มีความสัมพันธ์กันในทางใดทางหนึ่ง เช่น อยู่ในสถานที่เดียวกัน (เช่น บริษัท โรงเรียน หมู่บ้าน จังหวัดมีความเชื่อเหมือนกัน เช่น ศาสนาพุทธ อยู่ในกลุ่มอายุ  เพศ อาชีพ หรือ โรค  เดียวกัน หรืออาจมี วัฒนธรรม ความคิด เป้าหมาย ชีวิตความเป็นอยู่ ที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น ชมรมจักรยาน             

ในการดำเนินการวิจัย ชุมชนของการวิจัยไม่เพียงแต่จะประกอบด้วยประชากรที่อาศัยในพื้นที่ภูมิศาสตร์เดียวกันกับที่มีการทำวิจัย ยังประกอบไปด้วย ประชากรที่มีคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในโครงร่างการวิจัย  รวมถึงกลุ่มประชากรย่อยที่จะถูกคัดสรรเข้าร่วมโครงการวิจัย ตัวอย่างชุมชนของการวิจัย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคที่เป็นเหมือนๆกัน เช่น HIV เบาหวาน  หรือมีอาชีพเดียวกัน เช่น ครู พยาบาล สาวบริการ นักเรียน หรือเป็นกลุ่มประชากรเดียวกัน เช่น หญิงตั้งครรภ์ วัยรุ่น ผู้เสพยา ผู้ต้องหา ชายรักชาย สาวประเภทสอง หรืออาศัยในสถานที่เดียวกัน เช่น ชาวเขา ชาวอีสาน บุคคลคนหนึ่งอาจจะอยู่ในหนึ่งชุมชน หรือมากกว่าหนึ่งชุมชนย่อมได้ หรืออาจอยู่ในระยะเวลาช่วงหนึ่ง หรือหลายปีก็ได้ เช่น หญิงตั้งครรภ์อายุ 45 ปี จะอยู่ในชุมชนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นเวลา 9 เดือน   

เมื่อผู้วิจัยต้องการศึกษาวิจัยในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง สมาชิกในชุมชนอาจมารวมตัวกัน เนื่องจากสนใจ ใคร่รู้ มีข้อสงสัย มีความวิตกกังวล หรือมีคำถาม จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชน (Community Advisory Board: CAB) อย่างเป็นทางการในระยะใดระยะหนึ่งของการวิจัย ทั้งนี้เพื่อช่วยกันดูแลรักษาเรื่องสิทธิที่ควรได้และการละเมิดสิทธิที่อาจเกิดขึ้นกับอาสาสมัครและชุมชน ช่วยกันคุ้มครอง ดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัย  ติดตามว่าผู้วิจัยทำตามที่เขียนในโครงร่างการวิจัยและใบยินยอม ช่วยให้การวิจัยเกิดประโยชน์ต่อบุคคล/ชุมชน/สังคม/ประเทศอย่างแท้จริง CABเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง ชุมชน<>การวิจัย<>ผู้วิจัย  เป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรวิจัย เป็นกระบอกเสียงสื่อสารข้อสงสัย/ข้อวิตกกังวล  รวมทั้งเผยแพร่ความรู้และผลการวิจัยสู่ชุมชน  

ข้อมูลจาก Community Advisory Boards: Their Role in AIDS Clinical Trials โดย Lisa E. Cox, others, and the Terry Beirn Community Programs for Clinical Research on AIDS, Health & Social Work / Volume 23, Number 4 / November 1998 กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆที่นำมาสู่การจัดตั้ง CAB ที่เริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างแพทย์ ในปี 1985 ซึ่งเกิดจากการที่ นายกเทศมนตรีของเมืองซานฟรานซิสโกพบประธานเอดส์โปรแกรม ที่ San Francisco General Hospital (SFGH) เตือนให้มีสัมพันธภาพกับแพทย์ในชุมชนที่ดูแลผู้ป่วยเอดส์ให้มากกว่านี้ จึงมีการจัดตั้ง County Community Consortium (CCC) ต่อมาในปี 1986 กลายเป็น Community Consortium (CC) = “community-based clinical trial.” ซึ่งก็ยังคงเป็นกลุ่มแพทย์ ระหว่างปี 1987-1988 นักกิจกรรมในซานฟรานซิสโกจัดตั้ง Community Research Alliance (CRA) ที่มีจุดประสงค์เพื่อทำวิจัย จนกระทั่งปี 1988 จึงเกิด Community Advisory Board ในซานฟรานซิสโก เบื้องต้นเป็นกลุ่มนักกิจกรรม ต่อมาก็มีผู้สนับสนุนและผู้ป่วยเข้าร่วม และในปี 1989 the Terry Beirn Community Programs for Clinical Research on AIDS (CPCRA, 1996; DHHS, 1989) network จัดตั้ง CABs ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการวิจัย ให้คำแนะนำในการออกแบบการวิจัย ช่วยหาและคงไว้ ซึ่งอาสาสมัครในการวิจัยโรคเอดส์  โดยมีการจ้างนักสังคมสงเคราะห์ที่เป็นมาช่วยจัดตั้งและอำนวยความสะดวกให้เกิด CAB     

กระบวนการจัดตั้ง CAB ควรเริ่มตั้งแต่ต้นเมื่อมีการวางแผนที่จะทำวิจัย โดยการเชิญตัวแทนจากชุมชน สมาชิกในประชากรที่จะทำวิจัย ตัวแทนจากองค์กรภาครัฐและเอกชน นักกฎหมาย สื่อสารมวลชน นักวิชาการ และอื่นๆ เข้าร่วมปรึกษาหารือและให้มีกระบวนการคัดสรรจัดตั้ง การมีส่วนร่วมของชุมชนจะช่วยให้มั่นใจว่า ชุมชนมีโอกาสซักถามคำถามหรือข้อสงสัย ส่งเสริมศักยภาพชุมชนให้เข้าใจกระบวนการวิจัย เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างชุมชนกับนักวิจัย ทีมวิจัย/ชุมชนเข้าใจและเห็นคุณค่าของการวิจัย การดำเนินการวิจัยราบรื่น การวิจัยเกิดคุณภาพ/สำเร็จทั้งทางด้านจริยธรรมและวิทยาศาสตร์เกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง        

บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของCAB ช่วยตรวจสอบและทำให้มั่นใจว่าการวิจัยนั้นตอบสนองความจำเป็นและเป็นความหวังของชุมชน ก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของอาสาสมัครวิจัย ช่วยตรวจสอบว่าจะเกิดความเสี่ยงหรือการตีตราต่ออาสาสมัครหรือชุมชน กระบวนการขอความยินยอมมีความเหมาะสมกับชุมชน สนับสนุนให้มีการเข้าถึงประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย ดังนั้นCABจึงควรช่วยแนะนำผู้วิจัยในการออกแบบและดำเนินการวิจัยให้เหมาะสมกับชุมชน ให้คำปรึกษาและหาแนวทางการแก้ปัญหาในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเพื่อให้บรรลุตรงตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ช่วยประสานความร่วมมือจากเครือข่ายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน การปรึกษาหารือกันควรเป็นไปอย่างเปิดเผยและให้สมาชิกในCABนั้นๆแจ้งผลประโยชน์ทับซ้อน (ดู CIOMS216 แนวทางที่ 25 เรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อน Conflicts of interest) 

ในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ควรขออนุญาตจากผู้นำชุมชน/ตัวแทนจากชุมชน เช่น มีการขอความยินยอมต่อผู้นำชุมชนก่อน (นัฟฟิลด์ 6.3) อย่างไรก็ตามการขอความยินยอมจากคนในชุมชนเป็นรายบุคคลยังต้องทำอยู่ ในการขอความยินยอม ภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาถิ่น คำนึงถึงการบริการ/ระบบบริการสาธารณสุข วัฒนธรรมท้องถิ่น บรรทัดฐานทางสังคม คือ วิถีชาวบ้าน(Folkways) จารีต (Morals) และ กฎหมาย (Laws) และสอดคล้องกับสภาวะพิเศษของกลุ่มประชากร เช่น กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ      

CABช่วยตรวจสอบว่า เอกสารขอความยินยอมให้มีความสอดคล้องกับโครงร่างการวิจัย อ่านแล้วเข้าใจ เป็นไปตามหลักจริยธรรมสากล คือ การเคารพในบุคคลและชุมชน-วัฒนธรรมของท้องถิ่น เกิดประโยชน์ต่ออาสาสมัครและชุมชนที่ทำการวิจัย ไม่เกิดความเสี่ยงกับคนใดคนหนึ่งทั้งอาสาสมัครและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ต้องเข้าถึงการรักษาที่พิสูจน์ทราบแล้วว่าปลอดภัยและมีความเท่าเทียมกัน 

ก่อนการทำวิจัย คำถามที่CABควรถามกับผู้วิจัย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์วิจัยเคยทำการทดสอบที่ไหนบ้างแล้ว สุขภาพหรือสวัสดิภาพของชาวชุมชนจะดีขึ้นจากผลการวิจัยนี้หรือไม่ จะมียาให้อาสาสมัครต่อไปไหม เมื่อจบโครงการไปแล้ว ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง อีกนานเท่าไหร่ชุมชนที่ทำวิจัยจึงได้รับผลตอบแทน เช่น มีวัคซีน/ยาวิจัยที่ปลอดภัยใช้ผลการวิจัยจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่พึงประสงค์กับชุมชนไหม มีประโยชน์อะไรอื่นใดอีกบ้างที่ชุมชนจะได้รับจากการวิจัย 

CABควรช่วยกันพิจารณาด้วยว่า การวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนหรือไม่ ช่วยแก้ปัญหาของชุมชนหรือไม่ ออกแบบมาอย่างเข้าใจคนในชุมชนหรือไม่ สมาชิกในชุมชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการออกแบบการวิจัยหรือไม่

ผลกระทบ/ความเสี่ยงของการวิจัย/ผลการวิจัยที่จะมีต่ออาสาสมัคร ผู้ที่ไม่เข้าร่วมวิจัยและชุมชน ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงทางสังคมที่ผู้วิจัยหรือผู้ให้ทุนวิจัยหรือIRB คิดไม่ถึง เช่น การรักษาความลับ การตีตรา คำแนะนำในการป้องกัน และแนวทางแก้ไขหากเกิดขึ้น 

อาสาสมัครและชุมชนได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วมวิจัย – ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ช่วยให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อทำให้อาสาสมัครและ/หรือชุมชนได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมวิจัยมากขึ้น เช่น แนะนำหน่วยบริการสุขภาพที่เหมาะสมแก่อาสาสมัครที่ต้องส่งไปรับบริการต่อ แนวทางที่ต้องการเมื่อการวิจัยประสบความสำเร็จ แสดงประโยชน์ที่จะได้รับของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งก่อนและหลังการวิจัย  ได้แก่ สิ่งที่การศึกษาวิจัยจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพอาสาสมัคร/ชุมชน เช่น    การส่งเสริมบริการสุขภาพรายละเอียดวิธีการที่อาสาสมัคร/ชุมชนที่เกี่ยวข้องจะได้รับเมื่อผลิตภัณฑ์วิจัยประสบความสำเร็จ เช่น การซื้อผลิตภัณฑ์วิจัยที่ประสบความสำเร็จในราคาที่เหมาะสม 

เมื่อยังไม่ได้มีการขอความยินยอมหรือการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เป็นโอกาสที่ชุมชนจะได้แสดงความคิดเห็น ซักถามข้อสงสัยและข้อวิตกกังวล รวมทั้งสามารถช่วยปรับโครงร่างการวิจัยและใบยินยอม ให้เหมาะสมกับบริบทของอาสาสมัคร/ชุมชน 

CAB กับ IRB/EC จะทำงานทับซ้อนกันหรือไม่ โครงการวิจัยทุกโครงการต้องผ่านการอนุมัติจากIRBจึงเริ่มดำเนินการได้ แต่CABบางโครงการก็ไม่มี โครงการที่มีCABมักเป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ และใช้เวลาระยะหนึ่ง เช่น โครงการวิจัยวัคซีน HIV ระยะที่3 ที่จังหวัดระยอง ก็จะมีCABของโครงการที่ประกอบด้วยอาสาสมัครในโครงการ นักกฎหมาย NGO อสม. ผู้ทรงคุณวุฒิ  โครงการวิจัยที่เกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศก็จะมีคณะที่ปรึกษาชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ  (M-CAB) ที่จะคอยดูงานวิจัยในชุมชนของตน บางสถาบันวิจัยจะมีCABของสถาบันวิจัยนั้นๆ



วันศุกร์ที่ 7 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การเบี่ยงเบนจากโครงร่างการวิจัย Protocol Deviation

ความผิดพลาดในการดำเนินการวิจัย Misconduct in Clinical Trials 

ปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของคน (Human Error) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในการทำวิจัยเพราะทีมวิจัยประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ นักสถิติ ผู้ช่วยวิจัย IT แม้ว่าจะมีการอบรมก่อนเริ่มปฏิบัติงานและมีเครื่องช่วยจำต่างๆแล้ว แต่ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ รวมทั้งตัวอาสาสมัครเองก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้

ความผิดพลาดอาจเกิดโดยไม่ตั้งใจ ไม่เข้าใจ ไม่รู้ หรือจงใจฝ่าฝืน บิดเบือน (change without permission)  หรือละเลยไม่กระทำ (omission) หรือการใช้เล่ห์เหลี่ยม การโกง (Fraud) ทำให้ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ ในโครงการวิจัย มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ/หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออาสาสมัครและ/หรือส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลวิจัย ตั้งแต่เพียงเล็กน้อยจนถึงขั้นร้ายแรง ส่วนใหญ่จะพบเมื่อ monitor มาตรวจเจอ

ความผิดพลาดเล็กๆน้อยๆที่ไม่กระทบกับวัตถุประสงค์ของการวิจัยและ/หรือความปลอดภัยของอาสาสมัคร เช่น 
  • ลืมกรอกข้อมูล โดยปล่อยว่างไว้ 
  • ลืมใส่กากบาทในช่อง เช่น เพศ o ชาย o หญิง โดยเฉพาะ CRF มักมีช่องให้กรอกเยอะ เกิดความผิดพลาดได้ง่าย บางทีก็ไม่แน่ใจว่าต้องกากบาทช่องไหนบ้าง
  • กรอกค่าผิด เช่น ใส่ตัวเลขผลLabผิด
  • เขียนผิด โดยเฉพาะการกรอกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ 
  • เอกสารต้นฉบับหาย หรือถูกทำลาย 
  • บางทีก็รู้แต่ก็ทำ เช่น ใช้หมึกลบ ใช้ดินสอเขียน แปะsticky noteไว้ที่เอกสารวิจัย 

เหล่านี้เป็นเหตุให้ monitor ต้องรีบมาตรวจ หรือมาตรวจถี่ในระยะแรกของการทำวิจัย จะได้รีบทำความเข้าใจกันแต่เบื้องต้น เป็นการลดความผิดพลาด

การเบี่ยงเบนจากโครงร่างการวิจัย (Protocol Deviation)  จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่วิจัยดำเนินการวิจัยผิดไปจากขั้นตอนที่ระบุไว้ในโครงร่างการวิจัย ซึ่งอาจเกิดจากความไม่เหมาะสมในการกำกับดูแล การอบรมหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานไม่ดีพอ ซึ่งอาจก่อผลให้เกิดความเสี่ยงต่ออาสาสมัครและ/หรือความเสียหายของข้อมูลวิจัยเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น 

  • อาสาสมัครมาผิดวันนัดวิจัยและเลยกรอบเวลาที่กำหนดไว้ อาจเกิดจากขาดระบบเตือน หรือกรอบเวลาไม่ยืดหยุ่น 
  • เจาะเลือดได้จำนวนน้อยกว่าที่กำหนดไว้ ทำให้ขาดผลเลือดบางตัว ที่ไม่กระทบกับการแปลผลความปลอดภัย 

การฝ่าฝืนโครงร่างการวิจัย (Protocol Violation) เป็นการทำวิจัยที่มีความผิดพลาดร้ายแรง อาจเกิดจากการจงใจฝ่าฝืน บิดเบือน (change without permission)  หรือละเลยไม่กระทำ (omission) ตามขั้นตอนที่ระบุไว้ ในโครงการวิจัย มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ/หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่ก่อให้เกิดความอันตรายต่ออาสาสมัคร หรือการตัดสินใจของอาสาสมัครที่จะอยู่ร่วมในโครงการวิจัยต่อไปและ/หรือมีผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลวิจัยและผลการวิจัย 

บางครั้งเกิดจากการใช้เล่ห์เหลี่ยม กลโกง (Fraud) ทำโดยจงใจหรือเจตนา เพื่อเปลี่ยนแปลง ละเว้นละเลย หรือยกเมฆ ปลอมแปลงข้อมูล  ตัวอย่างเช่น 

  • ในโครงการวิจัยแบบ multi-centerที่มีการแข่งขันกันระหว่างสถานที่วิจัยในการรับอาสาสมัครเข้าร่วมวิจัย อาจทำให้มีการรับอาสาสมัครที่เกือบเข้าเกณฑ์เข้าร่วมวิจัยได้ จะพบในโครงการวิจัยที่รับอาสาสมัครได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว เช่น โครงการวิจัยห้ามรับอาสาสมัครที่มีความดันสูงวันคัดกรอง ผู้วิจัยอาจเลือกค่าความดันที่เข้าเกณฑ์เพื่อทำให้เข้าโครงการได้ หรือในกรณี เจสซี เกลซิงเกอร์ซึ่งเข้าโครงการได้ ทั้ง ๆที่มีค่าแอมโมเนียสูง ทั้งๆที่เป็นข้อห้าม 
  • การลงนามใบยินยอมแทนอาสาสมัคร/ผู้ปกครอง ในอดีตเคยเจออาจารย์ประจำชั้นหวังดีอยากให้เด็กเข้าโครงการเลยลงนามแทนพ่อแม่เด็กทั้งห้อง เวลาตรวจสอบจะพบว่าลายมือชื่อผู้ปกครองเหมือนกันหมด สีหมึกเป็นสีเดียวกันหมด  
  • ข้อมูลที่กรอกใน CRF ไม่ตรงกับเอกสารต้นฉบับเป็นจำนวนมากหรือเอกสารต้นฉบับหาย 
  • อาสาสมัครไม่มีตัวตนจริงๆ เช่น เก็บตัวอย่างเลือดจากคนๆเดียวมาทำสไลด์ตรวจสำหรับอาสาสมัครหลายคน โกงจำนวนอาสาสมัคร ไม่มีอาสาสมัครจริง ทำให้ปัจจุบันต้องมีสำเนาบัตรประชาชนเก็บไว้ที่สถานที่วิจัย
  • พบข้อผิดพลาดในการนับยาวิจัยจริงกับบัญชีรับจ่ายยามากๆ
  • ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
  • การดำเนินการวิจัยสมบูรณ์แบบเกินไป ไม่พบข้อผิดพลาดใดๆ
  • ผู้วิจัยหลบๆเลี่ยงๆไม่ค่อยอยากมาเจอ monitor

ข้อสงสัยว่าอาจเกิดFraudในโครงการวิจัย เช่น พบข้อผิดพลาดมากในรูปแบบเดิมๆ มักถูกตรวจพบโดยmonitor monitorจะรายงานข้อสงสัยนี้ต่อผู้ให้ทุนโดยผู้วิจัยจะไม่เห็นรายงานฉบับนี้ ผู้ให้ทุนจะส่งauditorมาตรวจสอบ หากไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนอาจมีการauditอีกครั้ง โดยauditorอีกคน หากพบว่ามีFraudจริงผู้ให้ทุนรายงานต่อIRBและผู้ควบคุมกฎ ซึ่งอาจส่งinspectorมาตรวจสอบ มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงมากมายหาอ่านได้ใน FDA warning letter 

ตัวอย่างการฝ่าฝืนโครงร่างการวิจัยที่ร้ายแรงที่มีผลต่อความปลอดภัยของอาสาสมัคร ได้แก่ - การดำเนินการวิจัยไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในโครงร่างการวิจัยฉบับที่ IRB อนุมัติ  -    ล้มเหลวในการขอความยินยอมตามหลักจริยธรรมและ GCP         - รับอาสาสมัครไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด และยังคงดำเนินกิจกรรมวิจัยกับอาสาสมัครที่เข้าเกณฑ์ให้ยุติการวิจัย เช่น อาสาสมัครที่ใช้ยาห้าม  -   ให้ยาวิจัยผิดกลุ่ม (random) ผิดขนาด ผิดเวลา  -  เปิดเผยกลุ่มยาวิจัยที่อาสาสมัครได้รับ (breaking random code)   -   บีบบังคับ กดดันให้อาสาสมัครที่อยากออกจากโครงการวิจัยอยู่ต่อ   -      ไม่รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสถานที่วิจัย   -      ละเมิดการรักษาความลับ Breach participant confidentiality    -      เกิด Protocol deviation ซ้ำกันบ่อยๆ  

หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เจ้าหน้าที่วิจัยต้องรีบรายงานผู้วิจัยทันที ต้องมีการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิด มาตรการในการแก้ไข และป้องกัน รายงานต่อผู้ให้ทุน IRB และหน่วยควบคุมกฎที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้วิจัยอาจไม่รู้ว่าทำผิด จนกระทั่ง monitor มาตรวจเจอ 

การไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนด (Non-compliance) เป็นการไม่ปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดีของ International Conference on Harmonization (ICH) Good Clinical Practice หรือ ICH GCP หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนดของคณะกรรมการฯ และ/หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำวิจัยโดยไม่ผ่านการพิจารณาจาก IRB เป็นต้น 

การเบี่ยงเบนโครงร่างการวิจัยเกิดขึ้นได้จากความผิดพลาดของคน ควรพยายามลดให้เหลือน้อยที่สุด จำเป็นต้องให้มีการตรวจสอบเป็นระยะๆ เมื่อพบว่าเกิดความผิดพลาดก็ต้องรีบแก้ไข หามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก

 

มาตรการป้องกันอาจทำได้หลายแบบ ได้แก่ การตรวจสอบภายในโดยทีมวิจัย (Internal Quality Control) Monitor Auditor หากมีการเกิดการเบี่ยงเบนโครงร่างการวิจัยซ้ำ ๆหลายครั้งต้องให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่วิจัยใหม่ หรือบางครั้งอาจต้องมีการแก้ไขโครงร่างการวิจัย เช่น อาสาสมัครจำนวนมากไม่สามารถมาตามกำหนดนัดวิจัยได้ อาจต้องเพิ่มวัน ±1วัน

 

ทุกการฝ่าฝืนโครงร่างการวิจัย (Protocol Violation) ต้องรายงานทันทีต่อผู้ให้ทุน IRB และหน่วยควบคุมกฎ เช่น FDA ถึงรายละเอียดของเหตุการณ์ วันที่เกิด วันที่พบ ความรุนแรง ความเสี่ยงต่ออาสาสมัคร ความเสียหายต่อข้อมูลวิจัย การดำเนินการเบื้องต้น มาตรการการป้องกัน หากเป็นMinor deviation อาจรายงานทุก 6 เดือน ถึง 1 ปี

 

เพื่อให้ภาพรวมของการเกิด Protocol Deviation/Violation/Non-compliance ผู้วิจัยอาจทำ Protocol Deviation Tracking Log หากเป็น minor deviation ก็อาจพิมพ์ออกมาให้ ผู้วิจัยลงนามเมื่อข้อมูลครบถ้วน หรือเมื่monitorจะมาตรวจ แล้วเก็บไว้ที่ แฟ้มเอกสารสำคัญ

หากสถานที่วิจัยใดมีการเกิดProtocol Deviation/Violation/non-compliance มากมาย เมื่อมีการรายงานต่อ IRB สถานที่วิจัยนั้นอาจต้องหยุดโครงการวิจัยชั่วคราวรอการตรวจสอบ หรือเพิกถอนการรับรอง ทั้งผู้วิจัยและสถานที่วิจัยอาจอยู่ใน Blacklist เสียประวัติเพราะจะถูกปฏิเสธการพิจารณาโครงการในอนาคต 

วันพุธที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การติดตามงาน Study Tracking

การติดตามงาน Study Tracking 

ในการดำเนินงานวิจัยมีงานมากมายที่ต้องทำ ทั้งในส่วนเอกสาร การติดต่อกับคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในคน ผู้ให้ทุน ทีมวิจัย และงานอื่น ๆอีกมากมาย เพื่อป้องกันไม่ให้งานที่เป็นเอกสาร งานที่ต้องทำเกิดความผิดพลาด จึงควรมีเครื่องมือในการติดตามงาน ในโครงการวิจัยขนาดเล็กเราอาจใช้ Excel ในการ Track งานที่ต้องทำ หรืออาจใช้ Microsoft® Project หรือ Outlook Calendar โปรแกรมอื่น ๆ ตามความถนัด โดยส่วนตัวชอบใช้ Excel Spreadsheet ตัวอย่าง Tracking Log ที่ควรมีเพื่อความสะดวกในการติดตามงานไม่ให้หลงลืมได้แก่

Study Task Tracking Log เป็นเครื่องมือช่วยในการวางแผนการทำงาน กรอบเวลาในแต่ละงาน ซึ่งบางครั้งผู้ให้ทุนก็อยากทราบแผนการทำงานและระยะเวลาที่จะใช้

รูปตัวอย่างแผ่นตารางทำการของโครงการวิจัย อธิบายแผนกิจกรรมที่ต้องทำในการทำวิจัย เริ่มตั้งแต่การประเมินสถานที่วิจัย จนโครงการวิจัยเสร็จสิ้น เบื้องต้นอาจเป็นเพียงการกะเวลาที่กิจกรรมแต่ละกิจกรรมจะเกิด และเมื่อมีแผนการปฏิบัติจริงก็ใส่วันที่วางแผนทำ และใส่วันที่ทำกิจกรรมนั้นจริง ๆเมื่อกิจกรรมนั้น ๆเกิดขึ้น

IRB & Protocol Tracking Log เป็นเครื่องมือช่วยในการติดตามการยื่นเสนอเอกสารสำคัญได้แก่ โครงร่างการวิจัย เอกสารแนะนำและใบยินยอม คู่มือผู้วิจัย และอื่น ๆ กับ IRB ทำให้รู้ timeline และผลการพิจารณา

SOPs development Tracking Log เป็นตัวช่วยให้เรารู้ว่าใครเป็นคนรับผิดชอบเขียนมาตรฐานการปฏิบัติงานเรื่องไหนอยู่ ได้รู้ว่าขณะนี้ถึงขั้นตอนไหน ผ่านการตรวจสอบแก้ไขไปกี่ครั้ง และอนุมัติแล้วยัง ทั้งนี้เมื่ออนุมัติแล้วอาจเพิ่มรายละเอียดฉบับที่อนุมัติและวันที่อนุมัติ

Study Staff Contact &Training Log เป็นเครื่องมือในการติดต่อสื่อสารกับคณะทำงาน ติดตามเอกสารที่ต้องเก็บรวบรวม เช่น ประวัติส่วนบุคคล ใบรับรองการอบรม ใบประกอบวิชาชีพ เป็นต้น ทำให้เห็นภาพรวมความพร้อมของทีมวิจัย หากทีมวิจัยจำนวนมากขาดการอบรม RE&GCP อาจต้องจัดการอบรมก่อนเริ่มดำเนินการวิจัย

Study Supply Inventory Log เป็นเครื่องมือสำคัญที่ใช้ช่วยในการคำนวณงบประมาณและจำนวนพัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆให้เพียงพอในการดำเนินโครงการวิจัย เป็นบันทึกข้อมูลจำนวน Study Clinical Supplies ที่ได้รับ (Quantity received) วันที่รับ (Date received) จำนวนที่ใช้ (Quantity used) จำนวนคงเหลือ (Balance)  วันหมดอายุ (Expiry Date) หากมี 

Study Clinical Supplies บางอย่าง เช่น study test kit หากไม่มีใช้ หรือ หมดอายุ จะทำให้ดำเนินการวิจัยต่อไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องมีการตรวจสอบเป็นระยะ ๆ และรีบเบิกจากผู้ให้ทุนล่วงหน้า หากจำเป็น เช่น ต้องนำเข้ามาจากต่างประเทศ


บางทีเราอาจคิดว่า การทำ Tracking Log ต่างๆ เป็นการเพิ่มภาระงาน แต่ความจริงแล้วมันเป็นตัวช่วยให้งานเกิดความผิดพลาดน้อยลง สามารถมองภาพรวมของงานได้ชัดเจน โดยเฉพาะหากเป็นโครงการวิจัยที่มีความซับซ้อน เช่น โครงการวัคซีนชนิดใหม่ เป็นต้น 

วันอังคารที่ 4 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

การเปลี่ยนแปลงผู้วิจัย Change PI

การเปลี่ยนแปลงผู้วิจัย (Change PI)

บางครั้งการวิจัยทางคลินิกมีหลายสถานที่วิจัยและใช้ระยะเวลาหลายปี บางครั้งอาจมีผู้วิจัยหลัก (Principal Investigator-PI) ลาออกหรือเกษียณและสถานที่วิจัยถูกปิดลง  ในกรณีเช่นนี้ PI สามารถถ่ายโอนความรับผิดชอบงานต่อให้ผู้วิจัยร่วม (Sub-PI) ที่อยู่ในสถานที่วิจัยใกล้เคียงกัน

ก่อนอื่นเมื่อทราบว่าจะมีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น PI ต้องตรวจสอบกับ IRBและสถาบันต้นสังกัด รวมทั้งผู้ให้ทุน ว่า PI สามารถถ่ายโอนความรับผิดชอบงานต่อให้ Sub-PI ในสถานที่วิจัยที่อยู่ใกล้เคียงกันได้หรือไม่ โดยทั่วไปสามารถทำได้แต่ต้องทำปรับแก้เอกสารที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงPI โดยทำ Protocol amendment  และ แก้ไขชื่อ PI เป็นผู้รับผิดชอบคนใหม่ ปรับICF และเอกสารที่เกี่ยวข้องอื่นๆ ยื่นขออนุมัติใหม่ต่อ IRBและหน่วยควบคุมกฏที่เกี่ยวข้อง

เมื่อ amendmentนี้ผ่านการอนุมัติจาก IRB ก็ให้ดำเนินการขอความยินยอมกับอาสาสมัครใหม่

หากเป็นการวิจัยยาใหม่ (IND) ผู้ให้ทุนต้องแจ้งแก่ FDA ถึงการเปลี่ยนแปลงนี้ และต้องแก้ไขฟอร์ม FDA 1572

สำหรับเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการทำวิจัย หากมีการโยกย้ายไปยังสถานที่วิจัยของPI คนใหม่ก็ต้องมีบันทึกข้อความ (Memo) อธิบายระยะเวลาที่เอกสารเก็บไว้ที่สถานที่วิจัยของ PI เก่า และวันที่เอกสารถูกย้ายมาเก็บไว้ที่สถานที่วิจัยแห่งใหม่ พร้อมทั้งเหตุผล

สำหรับเอกสารต้นฉบับที่ไม่สามารถย้ายมาเก็บที่สถานที่วิจัยแห่งใหม่ได้ เช่น OPD card, แฟ้มผู้ป่วย ให้ทำสำเนา (แต่ต้องได้รับอนุญาตจากสถานที่วิจัยเดิมและอาสาสมัครแล้ว)

ทั้งนี้ต้องรายงานข้อตกลงใหม่นี้กับผู้ให้ทุนด้วย

บทความใหม่

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test ปัจจุบันนี้ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้านมีใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถอำนวยความสะดวกให้เราได้ตรวจโรค...

บทความแนะนำ