CRC Café : คณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชน Community Advisory Board: CAB

วันจันทร์ที่ 24 พฤษภาคม พ.ศ. 2564

คณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชน Community Advisory Board: CAB

คณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชน Community Advisory Board: CAB 

แนวทางจริยธรรมสากลสำหรับการวิจัยในมนุษย์ ฉบับที่ 4 ปี 2016 โดย สภาองค์การสากลด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ (the CIOMS Ethical Guidelines for Biomedical Research by the Council for International Organizations of Medical Sciences (CIOMS2016) ISBN 978-929036088-9) ได้กล่าวถึง การมีส่วนร่วมของชุมชน (Community engagement) ว่า ผู้วิจัย ผู้ให้ทุนวิจัย หน่วยงานด้านสาธารณสุขและสถาบันที่เกี่ยวข้อง ทำงานร่วมกับผู้ที่คาดว่าจะเข้าร่วมโครงการและชุมชน โดยใช้กระบวนการมีส่วนร่วมที่มีเป้าหมายในการพัฒนาโครงร่างการวิจัย ออกแบบการวิจัย/วิธีดำเนินการวิจัย ออกแบบกระบวนการขอความยินยอม กำกับดูแลการวิจัย และเผยแพร่ผลการวิจัย ตั้งแต่เริ่มต้นทำวิจัยและต่อเนื่องตลอดโครงการวิจัย 

การมีส่วนร่วมของชุมชนจะช่วยทำให้มั่นใจว่า การวิจัยจะเกิดคุณภาพและมีความสำเร็จทั้งทางด้านจริยธรรมและวิทยาศาสตร์ นอกจากนี้ยังช่วยให้ทีมวิจัยเข้าใจและเห็นคุณค่าของการวิจัย ส่งเสริมศักยภาพชุมชนให้เข้าใจกระบวนการวิจัย เปิดโอกาสสมาชิกในชุมชนได้ซักถามคำถามหรือข้อสงสัย สร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างชุมชนกับนักวิจัย ช่วยให้การทำวิจัยราบรื่นและประสบความสำเร็จ      

ชุมชน (Community) เป็นการรวมตัวกันของบุคคลที่อาจมีลักษณะภายนอกไม่เหมือนกัน แต่มีความสัมพันธ์กันในทางใดทางหนึ่ง เช่น อยู่ในสถานที่เดียวกัน (เช่น บริษัท โรงเรียน หมู่บ้าน จังหวัดมีความเชื่อเหมือนกัน เช่น ศาสนาพุทธ อยู่ในกลุ่มอายุ  เพศ อาชีพ หรือ โรค  เดียวกัน หรืออาจมี วัฒนธรรม ความคิด เป้าหมาย ชีวิตความเป็นอยู่ ที่จัดอยู่ในกลุ่มเดียวกัน เช่น ชมรมจักรยาน             

ในการดำเนินการวิจัย ชุมชนของการวิจัยไม่เพียงแต่จะประกอบด้วยประชากรที่อาศัยในพื้นที่ภูมิศาสตร์เดียวกันกับที่มีการทำวิจัย ยังประกอบไปด้วย ประชากรที่มีคุณสมบัติที่กำหนดไว้ในโครงร่างการวิจัย  รวมถึงกลุ่มประชากรย่อยที่จะถูกคัดสรรเข้าร่วมโครงการวิจัย ตัวอย่างชุมชนของการวิจัย ได้แก่ ผู้ป่วยโรคที่เป็นเหมือนๆกัน เช่น HIV เบาหวาน  หรือมีอาชีพเดียวกัน เช่น ครู พยาบาล สาวบริการ นักเรียน หรือเป็นกลุ่มประชากรเดียวกัน เช่น หญิงตั้งครรภ์ วัยรุ่น ผู้เสพยา ผู้ต้องหา ชายรักชาย สาวประเภทสอง หรืออาศัยในสถานที่เดียวกัน เช่น ชาวเขา ชาวอีสาน บุคคลคนหนึ่งอาจจะอยู่ในหนึ่งชุมชน หรือมากกว่าหนึ่งชุมชนย่อมได้ หรืออาจอยู่ในระยะเวลาช่วงหนึ่ง หรือหลายปีก็ได้ เช่น หญิงตั้งครรภ์อายุ 45 ปี จะอยู่ในชุมชนกลุ่มหญิงตั้งครรภ์เป็นเวลา 9 เดือน   

เมื่อผู้วิจัยต้องการศึกษาวิจัยในชุมชนใดชุมชนหนึ่ง สมาชิกในชุมชนอาจมารวมตัวกัน เนื่องจากสนใจ ใคร่รู้ มีข้อสงสัย มีความวิตกกังวล หรือมีคำถาม จึงมีการจัดตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษาชุมชน (Community Advisory Board: CAB) อย่างเป็นทางการในระยะใดระยะหนึ่งของการวิจัย ทั้งนี้เพื่อช่วยกันดูแลรักษาเรื่องสิทธิที่ควรได้และการละเมิดสิทธิที่อาจเกิดขึ้นกับอาสาสมัครและชุมชน ช่วยกันคุ้มครอง ดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัย  ติดตามว่าผู้วิจัยทำตามที่เขียนในโครงร่างการวิจัยและใบยินยอม ช่วยให้การวิจัยเกิดประโยชน์ต่อบุคคล/ชุมชน/สังคม/ประเทศอย่างแท้จริง CABเป็นสะพานเชื่อมระหว่าง ชุมชน<>การวิจัย<>ผู้วิจัย  เป็นตัวแทนของกลุ่มประชากรวิจัย เป็นกระบอกเสียงสื่อสารข้อสงสัย/ข้อวิตกกังวล  รวมทั้งเผยแพร่ความรู้และผลการวิจัยสู่ชุมชน  

ข้อมูลจาก Community Advisory Boards: Their Role in AIDS Clinical Trials โดย Lisa E. Cox, others, and the Terry Beirn Community Programs for Clinical Research on AIDS, Health & Social Work / Volume 23, Number 4 / November 1998 กล่าวถึงเหตุการณ์ต่างๆที่นำมาสู่การจัดตั้ง CAB ที่เริ่มต้นจากการแลกเปลี่ยนความรู้กันระหว่างแพทย์ ในปี 1985 ซึ่งเกิดจากการที่ นายกเทศมนตรีของเมืองซานฟรานซิสโกพบประธานเอดส์โปรแกรม ที่ San Francisco General Hospital (SFGH) เตือนให้มีสัมพันธภาพกับแพทย์ในชุมชนที่ดูแลผู้ป่วยเอดส์ให้มากกว่านี้ จึงมีการจัดตั้ง County Community Consortium (CCC) ต่อมาในปี 1986 กลายเป็น Community Consortium (CC) = “community-based clinical trial.” ซึ่งก็ยังคงเป็นกลุ่มแพทย์ ระหว่างปี 1987-1988 นักกิจกรรมในซานฟรานซิสโกจัดตั้ง Community Research Alliance (CRA) ที่มีจุดประสงค์เพื่อทำวิจัย จนกระทั่งปี 1988 จึงเกิด Community Advisory Board ในซานฟรานซิสโก เบื้องต้นเป็นกลุ่มนักกิจกรรม ต่อมาก็มีผู้สนับสนุนและผู้ป่วยเข้าร่วม และในปี 1989 the Terry Beirn Community Programs for Clinical Research on AIDS (CPCRA, 1996; DHHS, 1989) network จัดตั้ง CABs ให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการวิจัย ให้คำแนะนำในการออกแบบการวิจัย ช่วยหาและคงไว้ ซึ่งอาสาสมัครในการวิจัยโรคเอดส์  โดยมีการจ้างนักสังคมสงเคราะห์ที่เป็นมาช่วยจัดตั้งและอำนวยความสะดวกให้เกิด CAB     

กระบวนการจัดตั้ง CAB ควรเริ่มตั้งแต่ต้นเมื่อมีการวางแผนที่จะทำวิจัย โดยการเชิญตัวแทนจากชุมชน สมาชิกในประชากรที่จะทำวิจัย ตัวแทนจากองค์กรภาครัฐและเอกชน นักกฎหมาย สื่อสารมวลชน นักวิชาการ และอื่นๆ เข้าร่วมปรึกษาหารือและให้มีกระบวนการคัดสรรจัดตั้ง การมีส่วนร่วมของชุมชนจะช่วยให้มั่นใจว่า ชุมชนมีโอกาสซักถามคำถามหรือข้อสงสัย ส่งเสริมศักยภาพชุมชนให้เข้าใจกระบวนการวิจัย เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจกันระหว่างชุมชนกับนักวิจัย ทีมวิจัย/ชุมชนเข้าใจและเห็นคุณค่าของการวิจัย การดำเนินการวิจัยราบรื่น การวิจัยเกิดคุณภาพ/สำเร็จทั้งทางด้านจริยธรรมและวิทยาศาสตร์เกิดประโยชน์กับชุมชนอย่างแท้จริง        

บทบาท หน้าที่และความรับผิดชอบของCAB ช่วยตรวจสอบและทำให้มั่นใจว่าการวิจัยนั้นตอบสนองความจำเป็นและเป็นความหวังของชุมชน ก่อให้เกิดความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของอาสาสมัครวิจัย ช่วยตรวจสอบว่าจะเกิดความเสี่ยงหรือการตีตราต่ออาสาสมัครหรือชุมชน กระบวนการขอความยินยอมมีความเหมาะสมกับชุมชน สนับสนุนให้มีการเข้าถึงประโยชน์ที่ได้จากการวิจัย ดังนั้นCABจึงควรช่วยแนะนำผู้วิจัยในการออกแบบและดำเนินการวิจัยให้เหมาะสมกับชุมชน ให้คำปรึกษาและหาแนวทางการแก้ปัญหาในประเด็นต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเพื่อให้บรรลุตรงตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ช่วยประสานความร่วมมือจากเครือข่ายในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย ติดตามสถานการณ์และการดำเนินงานที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน การปรึกษาหารือกันควรเป็นไปอย่างเปิดเผยและให้สมาชิกในCABนั้นๆแจ้งผลประโยชน์ทับซ้อน (ดู CIOMS216 แนวทางที่ 25 เรื่อง ผลประโยชน์ทับซ้อน Conflicts of interest) 

ในการทำวิจัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ควรขออนุญาตจากผู้นำชุมชน/ตัวแทนจากชุมชน เช่น มีการขอความยินยอมต่อผู้นำชุมชนก่อน (นัฟฟิลด์ 6.3) อย่างไรก็ตามการขอความยินยอมจากคนในชุมชนเป็นรายบุคคลยังต้องทำอยู่ ในการขอความยินยอม ภาษาที่ใช้ต้องเป็นภาษาถิ่น คำนึงถึงการบริการ/ระบบบริการสาธารณสุข วัฒนธรรมท้องถิ่น บรรทัดฐานทางสังคม คือ วิถีชาวบ้าน(Folkways) จารีต (Morals) และ กฎหมาย (Laws) และสอดคล้องกับสภาวะพิเศษของกลุ่มประชากร เช่น กลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ      

CABช่วยตรวจสอบว่า เอกสารขอความยินยอมให้มีความสอดคล้องกับโครงร่างการวิจัย อ่านแล้วเข้าใจ เป็นไปตามหลักจริยธรรมสากล คือ การเคารพในบุคคลและชุมชน-วัฒนธรรมของท้องถิ่น เกิดประโยชน์ต่ออาสาสมัครและชุมชนที่ทำการวิจัย ไม่เกิดความเสี่ยงกับคนใดคนหนึ่งทั้งอาสาสมัครและผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ต้องเข้าถึงการรักษาที่พิสูจน์ทราบแล้วว่าปลอดภัยและมีความเท่าเทียมกัน 

ก่อนการทำวิจัย คำถามที่CABควรถามกับผู้วิจัย ได้แก่ ผลิตภัณฑ์วิจัยเคยทำการทดสอบที่ไหนบ้างแล้ว สุขภาพหรือสวัสดิภาพของชาวชุมชนจะดีขึ้นจากผลการวิจัยนี้หรือไม่ จะมียาให้อาสาสมัครต่อไปไหม เมื่อจบโครงการไปแล้ว ใครเป็นผู้รับผิดชอบ ภายใต้เงื่อนไขอะไรบ้าง อีกนานเท่าไหร่ชุมชนที่ทำวิจัยจึงได้รับผลตอบแทน เช่น มีวัคซีน/ยาวิจัยที่ปลอดภัยใช้ผลการวิจัยจะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมที่พึงประสงค์กับชุมชนไหม มีประโยชน์อะไรอื่นใดอีกบ้างที่ชุมชนจะได้รับจากการวิจัย 

CABควรช่วยกันพิจารณาด้วยว่า การวิจัยเพื่อตอบสนองความต้องการของชุมชนหรือไม่ ช่วยแก้ปัญหาของชุมชนหรือไม่ ออกแบบมาอย่างเข้าใจคนในชุมชนหรือไม่ สมาชิกในชุมชนได้มีโอกาสมีส่วนร่วมในการออกแบบการวิจัยหรือไม่

ผลกระทบ/ความเสี่ยงของการวิจัย/ผลการวิจัยที่จะมีต่ออาสาสมัคร ผู้ที่ไม่เข้าร่วมวิจัยและชุมชน ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น โดยเฉพาะความเสี่ยงทางสังคมที่ผู้วิจัยหรือผู้ให้ทุนวิจัยหรือIRB คิดไม่ถึง เช่น การรักษาความลับ การตีตรา คำแนะนำในการป้องกัน และแนวทางแก้ไขหากเกิดขึ้น 

อาสาสมัครและชุมชนได้ประโยชน์อะไรจากการเข้าร่วมวิจัย – ประโยชน์ทางตรงและทางอ้อม ช่วยให้คำแนะนำเพิ่มเติมเพื่อทำให้อาสาสมัครและ/หรือชุมชนได้ประโยชน์จากการเข้าร่วมวิจัยมากขึ้น เช่น แนะนำหน่วยบริการสุขภาพที่เหมาะสมแก่อาสาสมัครที่ต้องส่งไปรับบริการต่อ แนวทางที่ต้องการเมื่อการวิจัยประสบความสำเร็จ แสดงประโยชน์ที่จะได้รับของชุมชนที่เข้าร่วมโครงการ ทั้งก่อนและหลังการวิจัย  ได้แก่ สิ่งที่การศึกษาวิจัยจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพอาสาสมัคร/ชุมชน เช่น    การส่งเสริมบริการสุขภาพรายละเอียดวิธีการที่อาสาสมัคร/ชุมชนที่เกี่ยวข้องจะได้รับเมื่อผลิตภัณฑ์วิจัยประสบความสำเร็จ เช่น การซื้อผลิตภัณฑ์วิจัยที่ประสบความสำเร็จในราคาที่เหมาะสม 

เมื่อยังไม่ได้มีการขอความยินยอมหรือการตัดสินใจเข้าร่วมโครงการ เป็นโอกาสที่ชุมชนจะได้แสดงความคิดเห็น ซักถามข้อสงสัยและข้อวิตกกังวล รวมทั้งสามารถช่วยปรับโครงร่างการวิจัยและใบยินยอม ให้เหมาะสมกับบริบทของอาสาสมัคร/ชุมชน 

CAB กับ IRB/EC จะทำงานทับซ้อนกันหรือไม่ โครงการวิจัยทุกโครงการต้องผ่านการอนุมัติจากIRBจึงเริ่มดำเนินการได้ แต่CABบางโครงการก็ไม่มี โครงการที่มีCABมักเป็นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ และใช้เวลาระยะหนึ่ง เช่น โครงการวิจัยวัคซีน HIV ระยะที่3 ที่จังหวัดระยอง ก็จะมีCABของโครงการที่ประกอบด้วยอาสาสมัครในโครงการ นักกฎหมาย NGO อสม. ผู้ทรงคุณวุฒิ  โครงการวิจัยที่เกี่ยวกับผู้มีความหลากหลายทางเพศก็จะมีคณะที่ปรึกษาชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศ  (M-CAB) ที่จะคอยดูงานวิจัยในชุมชนของตน บางสถาบันวิจัยจะมีCABของสถาบันวิจัยนั้นๆ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความใหม่

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test ปัจจุบันนี้ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้านมีใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถอำนวยความสะดวกให้เราได้ตรวจโรค...

บทความแนะนำ