ความผิดพลาดในการดำเนินการวิจัย Misconduct in Clinical Trials
ปัญหาที่เกิดจากความผิดพลาดของคน (Human Error) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ในการทำวิจัยเพราะทีมวิจัยประกอบด้วยบุคคลจากหลากหลายวิชาชีพ แพทย์ พยาบาล เภสัชกร นักวิทยาศาสตร์ นักสถิติ ผู้ช่วยวิจัย IT แม้ว่าจะมีการอบรมก่อนเริ่มปฏิบัติงานและมีเครื่องช่วยจำต่างๆแล้ว แต่ความผิดพลาดย่อมเกิดขึ้นได้เสมอ รวมทั้งตัวอาสาสมัครเองก็อาจทำให้เกิดความผิดพลาดได้
ความผิดพลาดอาจเกิดโดยไม่ตั้งใจ ไม่เข้าใจ ไม่รู้ หรือจงใจฝ่าฝืน บิดเบือน (change without permission) หรือละเลยไม่กระทำ (omission) หรือการใช้เล่ห์เหลี่ยม การโกง (Fraud) ทำให้ไม่เป็นไปตามขั้นตอนที่ระบุไว้ ในโครงการวิจัย มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ/หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง อาจก่อให้เกิดอันตรายต่ออาสาสมัครและ/หรือส่งผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลวิจัย ตั้งแต่เพียงเล็กน้อยจนถึงขั้นร้ายแรง ส่วนใหญ่จะพบเมื่อ monitor มาตรวจเจอ
- ลืมกรอกข้อมูล โดยปล่อยว่างไว้
- ลืมใส่กากบาทในช่อง เช่น เพศ o ชาย o หญิง
โดยเฉพาะ CRF มักมีช่องให้กรอกเยอะ เกิดความผิดพลาดได้ง่าย
บางทีก็ไม่แน่ใจว่าต้องกากบาทช่องไหนบ้าง
- กรอกค่าผิด เช่น ใส่ตัวเลขผลLabผิด
- เขียนผิด โดยเฉพาะการกรอกข้อมูลเป็นภาษาอังกฤษ
- เอกสารต้นฉบับหาย หรือถูกทำลาย
- บางทีก็รู้แต่ก็ทำ เช่น ใช้หมึกลบ ใช้ดินสอเขียน แปะsticky noteไว้ที่เอกสารวิจัย
เหล่านี้เป็นเหตุให้ monitor ต้องรีบมาตรวจ หรือมาตรวจถี่ในระยะแรกของการทำวิจัย จะได้รีบทำความเข้าใจกันแต่เบื้องต้น เป็นการลดความผิดพลาด
การเบี่ยงเบนจากโครงร่างการวิจัย (Protocol Deviation) จะเกิดขึ้นเมื่อเจ้าหน้าที่วิจัยดำเนินการวิจัยผิดไปจากขั้นตอนที่ระบุไว้ในโครงร่างการวิจัย ซึ่งอาจเกิดจากความไม่เหมาะสมในการกำกับดูแล การอบรมหรือมาตรฐานการปฏิบัติงานไม่ดีพอ ซึ่งอาจก่อผลให้เกิดความเสี่ยงต่ออาสาสมัครและ/หรือความเสียหายของข้อมูลวิจัยเพียงเล็กน้อยถึงปานกลาง เช่น
- อาสาสมัครมาผิดวันนัดวิจัยและเลยกรอบเวลาที่กำหนดไว้
อาจเกิดจากขาดระบบเตือน หรือกรอบเวลาไม่ยืดหยุ่น
- เจาะเลือดได้จำนวนน้อยกว่าที่กำหนดไว้ ทำให้ขาดผลเลือดบางตัว ที่ไม่กระทบกับการแปลผลความปลอดภัย
การฝ่าฝืนโครงร่างการวิจัย (Protocol Violation) เป็นการทำวิจัยที่มีความผิดพลาดร้ายแรง อาจเกิดจากการจงใจฝ่าฝืน บิดเบือน (change without permission) หรือละเลยไม่กระทำ (omission) ตามขั้นตอนที่ระบุไว้ ในโครงการวิจัย มาตรฐานการปฏิบัติงาน และ/หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ที่ก่อให้เกิดความอันตรายต่ออาสาสมัคร หรือการตัดสินใจของอาสาสมัครที่จะอยู่ร่วมในโครงการวิจัยต่อไปและ/หรือมีผลต่อความน่าเชื่อถือของข้อมูลวิจัยและผลการวิจัย
บางครั้งเกิดจากการใช้เล่ห์เหลี่ยม กลโกง (Fraud) ทำโดยจงใจหรือเจตนา เพื่อเปลี่ยนแปลง ละเว้นละเลย หรือยกเมฆ ปลอมแปลงข้อมูล ตัวอย่างเช่น
- ในโครงการวิจัยแบบ multi-centerที่มีการแข่งขันกันระหว่างสถานที่วิจัยในการรับอาสาสมัครเข้าร่วมวิจัย อาจทำให้มีการรับอาสาสมัครที่เกือบเข้าเกณฑ์เข้าร่วมวิจัยได้ จะพบในโครงการวิจัยที่รับอาสาสมัครได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว เช่น โครงการวิจัยห้ามรับอาสาสมัครที่มีความดันสูงวันคัดกรอง ผู้วิจัยอาจเลือกค่าความดันที่เข้าเกณฑ์เพื่อทำให้เข้าโครงการได้ หรือในกรณี เจสซี เกลซิงเกอร์ซึ่งเข้าโครงการได้ ทั้ง ๆที่มีค่าแอมโมเนียสูง ทั้งๆที่เป็นข้อห้าม
- การลงนามใบยินยอมแทนอาสาสมัคร/ผู้ปกครอง ในอดีตเคยเจออาจารย์ประจำชั้นหวังดีอยากให้เด็กเข้าโครงการเลยลงนามแทนพ่อแม่เด็กทั้งห้อง เวลาตรวจสอบจะพบว่าลายมือชื่อผู้ปกครองเหมือนกันหมด สีหมึกเป็นสีเดียวกันหมด
- ข้อมูลที่กรอกใน CRF ไม่ตรงกับเอกสารต้นฉบับเป็นจำนวนมากหรือเอกสารต้นฉบับหาย
- อาสาสมัครไม่มีตัวตนจริงๆ เช่น เก็บตัวอย่างเลือดจากคนๆเดียวมาทำสไลด์ตรวจสำหรับอาสาสมัครหลายคน โกงจำนวนอาสาสมัคร ไม่มีอาสาสมัครจริง ทำให้ปัจจุบันต้องมีสำเนาบัตรประชาชนเก็บไว้ที่สถานที่วิจัย
- พบข้อผิดพลาดในการนับยาวิจัยจริงกับบัญชีรับจ่ายยามากๆ
- ไม่มีรายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์
- การดำเนินการวิจัยสมบูรณ์แบบเกินไป ไม่พบข้อผิดพลาดใดๆ
- ผู้วิจัยหลบๆเลี่ยงๆไม่ค่อยอยากมาเจอ monitor
ข้อสงสัยว่าอาจเกิดFraudในโครงการวิจัย เช่น พบข้อผิดพลาดมากในรูปแบบเดิมๆ มักถูกตรวจพบโดยmonitor monitorจะรายงานข้อสงสัยนี้ต่อผู้ให้ทุนโดยผู้วิจัยจะไม่เห็นรายงานฉบับนี้ ผู้ให้ทุนจะส่งauditorมาตรวจสอบ หากไม่พบหลักฐานที่ชัดเจนอาจมีการauditอีกครั้ง โดยauditorอีกคน หากพบว่ามีFraudจริงผู้ให้ทุนรายงานต่อIRBและผู้ควบคุมกฎ ซึ่งอาจส่งinspectorมาตรวจสอบ มีตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงมากมายหาอ่านได้ใน FDA warning letter
ตัวอย่างการฝ่าฝืนโครงร่างการวิจัยที่ร้ายแรงที่มีผลต่อความปลอดภัยของอาสาสมัคร ได้แก่ - การดำเนินการวิจัยไม่ตรงตามที่ระบุไว้ในโครงร่างการวิจัยฉบับที่ IRB อนุมัติ - ล้มเหลวในการขอความยินยอมตามหลักจริยธรรมและ GCP - รับอาสาสมัครไม่ตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด และยังคงดำเนินกิจกรรมวิจัยกับอาสาสมัครที่เข้าเกณฑ์ให้ยุติการวิจัย เช่น อาสาสมัครที่ใช้ยาห้าม - ให้ยาวิจัยผิดกลุ่ม (random) ผิดขนาด ผิดเวลา - เปิดเผยกลุ่มยาวิจัยที่อาสาสมัครได้รับ (breaking random code) - บีบบังคับ กดดันให้อาสาสมัครที่อยากออกจากโครงการวิจัยอยู่ต่อ - ไม่รายงานเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรงที่เกิดขึ้นในสถานที่วิจัย - ละเมิดการรักษาความลับ Breach participant confidentiality - เกิด Protocol deviation ซ้ำกันบ่อยๆ
หากเกิดเหตุการณ์เหล่านี้ เจ้าหน้าที่วิจัยต้องรีบรายงานผู้วิจัยทันที ต้องมีการบันทึกเหตุการณ์ที่เกิด มาตรการในการแก้ไข และป้องกัน รายงานต่อผู้ให้ทุน IRB และหน่วยควบคุมกฎที่เกี่ยวข้อง ซึ่งส่วนใหญ่ผู้วิจัยอาจไม่รู้ว่าทำผิด จนกระทั่ง monitor มาตรวจเจอ
การไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนด (Non-compliance) เป็นการไม่ปฏิบัติตามแนวทางการปฏิบัติการวิจัยทางคลินิกที่ดีของ International Conference on Harmonization (ICH) Good Clinical Practice หรือ ICH GCP หรือไม่ปฏิบัติตามข้อกําหนดของคณะกรรมการฯ และ/หรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง เช่น ทำวิจัยโดยไม่ผ่านการพิจารณาจาก IRB เป็นต้น
การเบี่ยงเบนโครงร่างการวิจัยเกิดขึ้นได้จากความผิดพลาดของคน
ควรพยายามลดให้เหลือน้อยที่สุด จำเป็นต้องให้มีการตรวจสอบเป็นระยะๆ เมื่อพบว่าเกิดความผิดพลาดก็ต้องรีบแก้ไข
หามาตรการป้องกันไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำอีก
มาตรการป้องกันอาจทำได้หลายแบบ
ได้แก่ การตรวจสอบภายในโดยทีมวิจัย (Internal Quality Control) Monitor Auditor หากมีการเกิดการเบี่ยงเบนโครงร่างการวิจัยซ้ำ
ๆหลายครั้งต้องให้มีการอบรมเจ้าหน้าที่วิจัยใหม่
หรือบางครั้งอาจต้องมีการแก้ไขโครงร่างการวิจัย เช่น อาสาสมัครจำนวนมากไม่สามารถมาตามกำหนดนัดวิจัยได้
อาจต้องเพิ่มวัน ±1วัน
ทุกการฝ่าฝืนโครงร่างการวิจัย (Protocol Violation) ต้องรายงานทันทีต่อผู้ให้ทุน
IRB และหน่วยควบคุมกฎ เช่น FDA ถึงรายละเอียดของเหตุการณ์
วันที่เกิด วันที่พบ ความรุนแรง ความเสี่ยงต่ออาสาสมัคร ความเสียหายต่อข้อมูลวิจัย
การดำเนินการเบื้องต้น มาตรการการป้องกัน หากเป็นMinor deviation อาจรายงานทุก 6 เดือน ถึง 1 ปี
เพื่อให้ภาพรวมของการเกิด
Protocol
Deviation/Violation/Non-compliance ผู้วิจัยอาจทำ Protocol
Deviation Tracking Log หากเป็น minor deviation ก็อาจพิมพ์ออกมาให้ ผู้วิจัยลงนามเมื่อข้อมูลครบถ้วน หรือเมื่monitorจะมาตรวจ แล้วเก็บไว้ที่ แฟ้มเอกสารสำคัญ
หากสถานที่วิจัยใดมีการเกิดProtocol Deviation/Violation/non-compliance มากมาย เมื่อมีการรายงานต่อ IRB สถานที่วิจัยนั้นอาจต้องหยุดโครงการวิจัยชั่วคราวรอการตรวจสอบ หรือเพิกถอนการรับรอง ทั้งผู้วิจัยและสถานที่วิจัยอาจอยู่ใน Blacklist เสียประวัติเพราะจะถูกปฏิเสธการพิจารณาโครงการในอนาคต
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น