CRC Café : Recruitment การสรรหาอาสาสมัคร

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2562

Recruitment การสรรหาอาสาสมัคร


การสรรหาอาสาสมัคร (Recruitment)

การสรรหาอาสาสมัคร เป็นกระบวนการที่ผู้วิจัยใช้สื่อที่ผ่านการอนุมัติจากIRBs/Ecs ประกาศรับสมัครอาสาสมัครโครงการ วิจัยโดยสื่อต่างๆ เช่น ใบประกาศโฆษณา ข้อความโฆษณาในวิทยุ/โทรทัศน์ ข้อความเชิญชวนทางโทรศัพท์ และอื่นๆ เพื่อประชาสัมพันธ์เชิญชวนผู้ที่คาดว่าจะเป็นอาสาสมัครมารับฟังรายละเอียดของโครงการวิจัย ให้เวลาตัดสินใจแล้วจึงนัดมาคัดกรองเข้าร่วมโครงการ

การสรรหาอาสาสมัคร นับเป็นขั้นตอนการทำงานที่ยากขั้นตอนหนึ่งในการดำเนินการวิจัย ที่ผู้วิจัยต้องใช้ความสามารถคัดเลือกอาสาสมัครที่เหมาะสมอย่างเพียงพอภายในระยะเวลาที่ตกลงไว้กับผู้ให้ทุนเช่น โดยอาศัยข้อมูลย้อนหลัง (ICH GCP 4.2.1) การดำเนินการวิจัยที่ล่าช้าเนื่องจากไม่สามารถหาอาสาสมัครมาเข้าร่วมโครงการได้จะทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น ทั้งอาจมีโครงการวิจัยอื่นในประเทศอื่นที่คล้ายคลึงกันทำเสร็จก่อน ทำให้งานวิจัยของเราล้าสมัย ไม่เป็นที่น่าสนใจในเชิงวิชาการ ในปัจจุบันนี้ผู้ให้ทุนจึงมักดำเนินการวิจัยแบบ Multi-center คือทำพร้อมๆกันในหลายสถานที่วิจัย ในหลายประเทศ และทำแบบCompetitive recruitment เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ แต่ละสถานที่วิจัยมีความพยายามในการสรรหาอาสาสมัครมากขึ้นและรวดเร็วขึ้น

ความยากง่ายในการสรรหาอาสาสมัคร ขึ้นกับปัจจัยหลายอย่าง ได้แก่ ความซับซ้อนของโครงการ ชนิดของการวิจัย ระดับความเสี่ยง จำนวนและประเภทของอาสาสมัครที่ต้องการและแหล่งที่อยู่ของอาสาสมัคร (เช่น โรงพยาบาล โรงเรียน ชุมชน สถานบันเทิง) ระยะเวลาของโครงการ เกณฑ์การรับอาสาสมัครและอื่นๆ

ทำอย่างไร จึงมีความสำเร็จในการสรรหาอาสาสมัคร
เนื่องจากบางครั้งกว่าโครงการวิจัยจะเริ่มอาจล่าช้า จนทำให้ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับประชากรวิจัยที่ได้จาการทบทวนวรรณกรรม หรือข้อมูลย้อนหลังเปลี่ยนไป เช่น ก่อนเริ่มรับอาสาสมัครการมีการรณรงค์ฉีดวัคซีนก่อนการวิจัยวัคซีน   การระบาดของโรคลดลงเนื่องการเปลี่ยนแปลงอากาศ เป็นต้น ดังนั้น
-       ผู้วิจัยจึงต้องหาข้อมูลที่เกี่ยวกับผู้ที่น่าจะร่วมโครงการได้ในปัจจุบันจาก หน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้อง ข้อมูลจำนวนผู้ป่วยในโรงพยาบาลหรือห้องปฏิบัติการ คนในชุมชน
-       ผู้วิจัยควรศึกษาเหตุผลที่อาสาสมัครอยากเข้า หรือไม่เข้าโครงการวิจัย จากการทบทวนวรรณกรรม หรือการสำรวจความคิดเห็น
ทำไมไม่อยากเข้าโครงการวิจัย
เหตุผลที่คนส่วนใหญ่ไม่อยากเข้าโครงการวิจัย โดยเฉพาะการวิจัยยาใหม่หรืออุปกรณ์ทางการแพทย์ชนิดใหม่เพราะกลัวเป็นหนูทดลอง กลัวผลข้างเคียงที่อาจเกิด กลัวเจ็บจากการเจาะเลือด หรือกิจกรรมเก็บตัวอย่างวิจัยอื่นๆ บางคนอาจเกรงว่าจะไม่สามารถมาตามนัดวิจัยได้ ไม่อยากเปิดเผยความลับ/ความเป็นส่วนตัวเพราะการวิจัยส่วนใหญ่มักมีการซักถามรายละเอียดเยอะกว่าการรักษาตามปกติ เช่น เรื่องการใช้ยาเสพติด พฤติกรรมส่วนตัวเรื่องเพศสัมพันธ์ เป็นต้น
ทำไมอยากเข้าร่วมโครงการวิจัย
เนื่องจากอาสาสมัครที่เป็นผู้ป่วยต้องมารักษาความเจ็บป่วยในโรงพยาบาล จึงคิดว่าการเข้าโครงการวิจัยจะทำให้ได้รับการบริการทางการแพทย์ที่ดี มีความรวดเร็ว มีความพิเศษ มีทางเลือกในการรักษาใหม่ ได้รับยาที่ทันสมัย ไม่ต้องเสียค่ารักษา แถมยังได้เงินค่ารถบางครั้งผู้ป่วยก็เข้าโครงการวิจัยเพราะเกรงใจแพทย์ พยาบาลผู้ให้การดูแลรักษา ดังนั้นผู้วิจัยต้องไม่ใช้วิธีการบีบบังคับหรือ โน้มน้าวจนเกินไป
อาสาสมัครจะมาจากไหน ขึ้นอยู่กับคุณลักษณะของกลุ่มประชากรวิจัย เช่น เด็กอายุเท่าไหร่ โรคอะไร เป็นการวิจัยแบบไหน ตัวอย่าง เช่น การวิจัยแบบ Cohort studyในเด็กอายุ 7-10 ปี อาจต้องไปพบปะอาสาสมัครและผู้ปกครอง ที่โรงเรียนในเวลาราชการโดยจัดประชุมผู้ปกครอง หรือชุมชนในวันหยุดราชการ
ก่อนการสรรหาอาสาสมัครผู้วิจัยควร
-     วางแผนงาน เช่น สื่อที่เหมาะสมกับอาสาสมัคร  งบประมาณ เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบ เป็นต้น
     และต้องคำนึงถึงภาระงานในนัดวิจัยอื่นๆด้วย รวมทั้งวันหยุดของทีมวิจัย
-     กำหนดกลยุทธ์ต่างๆที่จะใช้ เช่น การวิจัยในอาสาสมัครเด็กสุขภาพดีอาจต้องไปประชาสัมพันธ์ที่โรงเรียน
-     วางเป้าหมายทั้งระยะสั้นและระยะยาว เช่น ตั้งเป้าหมาย ว่า ควรรับอาสาสมัคร 3 คนต่ออาทิตย์
-     การติดตามผลลัพธ์การทำงานและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ตามความเหมาะสม เช่น รับอาสาสมัครได้น้อยกว่าที่ตั้งเป้าไว้ อาจต้องกลับมาทบทวนวิธีการใหม่ เช่น อาจต้องออกชุมชนในวันหยุด เป็นต้น
โดยทั่วไป อาสาสมัครที่มีคุณสมบัติเบื้องต้นเหมาะสมในการคัดกรอง สามารถพบได้ที่
-       สถานที่วิจัยเอง โดยดูจากฐานข้อมูลอาจจะเป็นผู้ที่เคยเข้าโครงการวิจัยอื่นมาแล้ว เช่น ทำวิจัยโรคเบาหวาน อาสาสมัครก็ควรพบได้ในคลินิกเบาหวาน
-       ประชาสัมพันธ์โครงการโดยใช้สื่อที่ผ่านการอนุมัติจากIRBs/Ecs
       ผ่านเพื่อนร่วมวิชาชีพทั้งในและนอกโรงพยาบาลหรือชุมชน
       ติดประกาศ หรือโฆษณา ประชาสัมพันธ์ทั่วไปในชุมชน
-       เผยแพร่ข่าวสารการรับอาสาสมัครกับประชากรวิจัย (Participant word of mount)
การติดต่อกับผู้ที่คาดว่าจะเป็นอาสาสมัครได้โดย
-       โทรศัพท์ ส่งข้อความSMS ส่งemail ทั้งนี้ควรใช้บทสนทนาที่ผ่านการอนุมัติจากIRBs/Ecsเพื่อที่ทีมวิจัยจะได้ สนทนาไปในแนวทางเดียวกัน
-       พบปะพูดคุยกับผู้ที่คาดว่าจะเป็นอาสาสมัครโดยตรงเช่น ออกชุมชน จัดประชุม
การติดต่ออาจจะมากกว่า 1 ครั้ง แล้วจึงนัดคัดกรอง
คุณลักษณะที่ดีของอาสาสมัคร
อาสาสมัครที่ดีสำหรับผู้วิจัยคือ อาสาสมัครที่เข้าใจจุดมุ่งหมายของโครงการวิจัยและเต็มใจเข้าร่วมโครงการวิจัย สามารถมาตามนัดวิจัยได้ทุกนัด ทำกิจกรรมวิจัยและปฏิบัติตามคำแนะนำของผู้วิจัย เข้าใจถึงผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น ยินยอมให้ผู้วิจัยติดต่อได้ และจะดีมาก หากครอบครัวหรือคู่ของอาสาสมัครมีความเข้าใจและสนับสนุน
อุปสรรคที่อาจทำให้อาสาสมัครไม่สามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดได้ ซึ่งอาจเกิดขึ้นเมื่ออาสาสมัครมาเข้าร่วมโครงการ วิจัยแล้วก็ได้ เช่น อาสาสมัครต้องย้ายภูมิลำเนา ถูกเกณฑ์ทหาร ชั่วโมงการทำงานที่ไม่เอื้อให้มาตามนัด การเดินทาง
มาสถานที่วิจัยไม่สะดวก เป็นต้น
การเลือกสรรอาสาสมัคร (Participant selection)
·         ต้องให้ได้ตามจำนวนที่กำหนดไว้ในโครงร่างการวิจัยและในเวลาที่กำหนด
·         คุณสมบัติของอาสาสมัครตรงตามเกณฑ์ที่กำหนด (Inclusion/Exclusion Criteria)
ควรทำบันทึกการเลือกสรรอาสาสมัครในใบนัดคัดกรองระบุเหตุผลที่อาสาสมัครไม่สนใจเข้าร่วมโครงการเพื่อเก็บไว้เป็นข้อมูลในการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หากรับอาสาสมัครไม่ได้ตามจำนวนที่กำหนด

ผู้วิจัยควรทบทวน/ตรวจสอบ จำนวนคัดกรอง จำนวนที่เข้า-ปฏิเสธ เหตุผล อย่างน้อยอาทิตย์ละครั้ง

หากจำนวนอาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการได้น้อยกว่าเป้าหมายที่กำหนด ต้องปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ หรือ ทบทวนโครงร่างการวิจัย เช่น มีข้อจำกัดในเกณฑ์คัดเข้า-ออกมากเกินไปหรือไม่

*** ความสำเร็จในการทำงานเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจของทีมวิจัย***



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

บทความใหม่

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test ปัจจุบันนี้ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้านมีใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถอำนวยความสะดวกให้เราได้ตรวจโรค...

บทความแนะนำ