CRC Café : มิถุนายน 2020

วันจันทร์ที่ 29 มิถุนายน พ.ศ. 2563

การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว Privacy&Confidentiality

การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว (Privacy and Confidentiality) 

ความเป็นส่วนตัว (Privacy) เป็นสิทธิที่บุคคลจะปกป้องการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวของตน ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล พฤติกรรมส่วนบุคคลหรือที่ควรปกปิด การเก็บตัวอย่างทางชีววิทยา

การรักษาความลับ (Confidentiality) เป็นการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บไว้แล้วไม่ให้เผยแพร่ออกไปยังผู้อื่น

การเปิดเผยความลับ (Breached of Privacy) อาจโดยความไม่ตั้งใจ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่ออาสาสมัครวิจัยทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ กฎหมายและสังคม เช่น การเข้าร่วมวิจัยการป้องกันHIVโดยการกินยาต้านHIVทุกวัน หากรู้ไปถึงคู่สมรสและเพื่อนร่วมงานโดยไม่ตั้งใจ อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่า อาสาสมัครติดเชื้อ HIV แล้วกำลังรักษา คู่สมรสอาจโกรธ ทะเลาะและทำร้ายร่างกายกัน หรือถูกไล่ออกจากงานได้ ทำให้อาสาสมัครทุกข์ใจ เป็นที่รังเกียจของสังคม 

จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 ข้อมูลส่วนบุคคล หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทาให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ 

ข้อมูลส่วนบุคคล  (Personal information) เป็นข้อมูลของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่สามารถใช้ระบุตัวตน การติดต่อ ที่อยู่ของบุคคลนั้นได้ ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือทัศนคติ

·       ข้อมูลทั่วไป (General information) ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ชื่อย่อ ฉายา Nickname เลข/รหัส/ลักษณะเฉพาะที่เชื่อมไปสู่บุคคล เช่น เลขประจำตัวประชาชน เลขประกันสังคม

เลขประจำตัวผู้ป่วย เลขบัญชีธนาคาร เลขสมาชิกต่างๆ วัน-เดือน-ปี เกิด รูปภาพ เสียง ลายมือ เลขใบขับขี่ เลขทะเบียนรถ บ้านเลขที่ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ Username/Password

·         ข้อมูลทางการแพทย์  (Health information)

-        การวินิจฉัยทางการแพทย์ Medical diagnosis   เช่น เบาหวาน ความดันสูง ตับอักเสบ
      HIV โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (bipolar disorder)
-        ประวัติทางการแพทย์ เช่น ซิฟิลิส
-        ประวัติการใช้สารเสพติด เช่น ยาอี ยาบ้า
-        ข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรมจากเลือด น้ำลาย เช่น Thalassemia
-        อื่นๆที่นำไปสู่เอกลักษณ์ของบุคคลนั้นได้ เช่น ลายนิ้วมือ ม่านตา (Retina scan) บันทึกฟัน

·         ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือทัศนคติ (Behavioral and attitudinal information)

-        ความคิดเห็นและข้อมูลพฤติกรรมที่ได้จากการ
-        ซักประวัติทางการแพทย์
-        สัมภาษณ์ (ทางโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ หรือ online หรือ
      การสัมภาษณ์แบบกลุ่ม Focus group)
-        การสังเกต (Observation)
-        บันทึกประจำวัน (Diary)

·         ข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เช่น เพศสัมพันธ์

·         ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น การใช้สารเสพติด การชายบริการทางเพศ 

การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัวของอาสาสมัครวิจัย

จาก ICH GCP 1.16 การรักษาความลับ (Confidentiality) เป็นการป้องกันมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยว กับผลิตภัณฑ์ของผู้ให้ทุนวิจัยหรือข้อมูลส่วนบุคคลของอาสาสมัครให้แก่บุคคลอื่นซึ่งไม่ได้รับอนุญาต   

ทีมวิจัยต้องให้ความเคารพต่อสิทธิในการปกป้องศักดิ์ศรีของอาสาสมัครอยู่เสมอ ต้องดำเนินการวิจัยด้วยความระมัดระวัง เคารพความเป็นส่วนตัวและรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคลของอาสาสมัครวิจัย (Respect for privacy and confidentiality) เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการวิจัยต่อ ร่างกาย จิตใจ บุคลิกภาพ โดย

·         อธิบายให้อาสาสมัครเข้าใจถึงสิทธิในการปกป้องความเป็นส่วนตัว เช่น

-      อาสาสมัครมีสิทธิออกจากโครงการเมื่อใดก็ได้

-      อาสาสมัครมีสิทธิไม่ตอบคำถามที่อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจ

-      อาสาสมัครมีสิทธิปฏิเสธการขอเก็บตัวอย่างเพื่อการวิจัยในอนาคต

รวมทั้งอธิบาย วัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล วิธีการจัดเก็บ การจัดการข้อมูลวิจัย และการทำลายเมื่อการวิจัยเสร็จสิ้นสมบูรณ์

·        เอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคล เช่น  Participant Identification Form ที่มีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของอาสาสมัคร ต้องเก็บไว้ในที่ๆปลอดภัย จำกัดการเข้าถึง เอกสารต้องเก็บใน   ตู้/ห้อง ที่ใส่กุญแจ

·        เอกสารหรือข้อมูลที่เป็นอิเลคทรอนิกส์ ให้มีการใส่ username และ password

·        เอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยให้ดูได้เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ระบุไว้ใน โครงร่างการวิจัย เอกสารแนะนำอาสาสมัครและใบยินยอม ใบมอบหมายหน้าที่ (Delegation log) เท่านั้น

·        หากจำเป็นต้องมีการส่งข้อมูลไปให้ผู้กำกับดูแลการวิจัย  หรือ บุคคลที่อยู่ในทีมวิจัยแต่อยู่นอกสถานที่วิจัย ให้เอาข้อมูลส่วนบุคคลออกก่อน

·         เอกสารวิจัยและข้อมูลวิจัย ที่ไม่ได้ใช้แล้วจะถูกทำลาย อาจโดยการย่อยด้วยเครื่องย่อยเอกสาร หรือล้างออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์

·         ข้อมูลที่จะนำไปวิเคราะห์เผยแพร่จะทำได้ต้องได้รับความยินยอมจากอาสาสมัครอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร  ตาม

พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ  พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๒๔ หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่น โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยดังต่อไปนี้ (๔) เป็นการให้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย โดยไม่ระบุชื่อหรือส่วนที่ทำให้รู้ว่า เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับบุคคลใด 

และในอนาคตจะมีการบังคับใช้ พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา ๑๙ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล (บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล) จะกระทำการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูล ส่วนบุคคลไม่ได้หากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนหรือในขณะนั้น เว้นแต่บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้

การขอความยินยอมต้องทำโดยชัดแจ้ง เป็นหนังสือหรือทำโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่โดยสภาพไม่อาจขอความยินยอมด้วยวิธีการดังกล่าวได้ อ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.๒๕๖๒ ฉบับเต็ม ที่รอการบังคับใช้ ได้ที่

https://drive.google.com/file/d/1xeTXUuYfxo0JFF-lQt4DAzwCYXBVp9Ci/view?usp=sharing

ในการปฏิบัติทางการแพทย์ ควรมีสถานที่ที่ส่วนตัวเวลาพูดคุยกับผู้ป่วย หากไม่มีห้องส่วนตัวก็ควรพูดคุยในที่ห่างไกลผู้ป่วยคนอื่น ไม่ใช่ร่วมฟังกันเป็นหมู่คณะ ไม่ควรซักประวัติต่อหน้าสาธารณชน หรือการแนะนำการใช้ยา คนที่มีโรคประจำตัวร้ายแรง เช่น ผู้ที่ต้องใช้ยาต้านเขาก็ไม่อยากให้ใครรู้

ในการดำเนินการวิจัย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีห้องสำหรับกระบวนการขอความยินยอมและพูดคุยกับอาสาสมัคร 

ถึงแม้จะมีห้องที่เป็นส่วนตัวก็ควรตรวจเช็คดูด้วยว่า เสียงพูดคุยเล็ดรอดออกมาข้างนอกหรือไม่ เคยมีอาสาสมัครวิจัยมาเล่าให้ฟังว่า เขาออกจากโครงการวิจัยเพราะ ระหว่างนั่งรอคิวเข้าห้องตรวจ เขาได้ยิน คนคุยกันจากห้องตรวจ ซึ่งเขาไม่สบายใจ เพราะ คนอื่นอาจได้ยินเขาคุยกับทีมวิจัย ซึ่งสิ่งที่คุยมันเป็นความลับของเขา และทำให้สิ่งที่เขาบอกไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขา 

เคยไปซื้อยาที่ร้านขายยาของรัฐ ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ พอถึงตอนแนะนำการใช้ยามีลูกค้าคนอื่นที่รอรับยามาร่วมฟัง ร่วมพูดคุย ก็นึกว่านิสัยคนไทยมีน้ำใจให้ความเห็น ขำๆ แต่บางคนเขาไม่ขำ เขาบอกว่ามันเป็นการเปิดเผยความลับของเขา ตอนนี้คงไม่เกิดแบบนี้เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องมี Social Distancing

บางทีเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เราไม่ทันคิด แต่มันอาจเป็นเรื่องร้ายแรงของผู้อื่น จงเอาตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เราอยากได้อะไรคนอื่นเขาก็อยากได้แบบนั้น  

ในการดำเนินการวิจัย ผู้วิจัยต้องขอความยินยอมจากอาสาสมัครเป็นลำดับแรกก่อนทำกิจกรรมวิจัย ดำเนินการวิจัยด้วยความระมัดระวัง รักษาความลับให้อาสาสมัครวิจัยโดยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้เผยแพร่ออกไป หากมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลในอนาคตท่านอาจได้รับบทลงโทษ ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง เมื่อพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ 

วันอาทิตย์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2563

มุมมืดของลูกชาย

มุมมืดของลูกชาย

เมื่อได้มีโอกาสทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษากลุ่มชายรักชาย ตามคำชักชวนของพี่ที่เคารพ ตอนนั้นไม่เคยรู้จักโลกของเกย์ ถึงแม้จะมีเพื่อนที่มีลักษณะเป็นเกย์ แต่ก็ไม่เคยรู้อะไรลึกๆเลย เพื่อนเคยไปเที่ยวผับตรงหลังสวน พอเข้าไปงงมากทำไมมีแต่ผู้ชาย มีผู้หญิง 3-4 คนเท่านั้น ถามเพื่อนว่าทำไมผับนี้ไม่มีผู้หญิงอะ เพื่อนตอบว่าก็พามาเพราะเห็นเธอชอบผู้ชายไม่ใช่เหรอ แล้วหัวเราะใหญ่ มารู้ภายหลังว่าเป็นผับเกย์ก็ตอนมาทำงานด้านนี้ ไร้เดียงสามาก

พอมาทำงานก็ตกตะลึงกับจำนวนลูกค้าที่มาใช้บริการ สูงสุดที่เจอคือ 80 คนใน 1 วัน

ตอนมาทำงานที่คลินิกนี้ใหม่ๆ น้องๆที่มารับบริการเห็นความไร้เดียงสาในเรื่องโลกของเกย์ของป้า เลยมักจะเปิดเผยเรื่องราวในชีวิตที่ไม่เคยเล่าให้คนที่อยู่มาก่อนฟัง คิดว่าที่น้องๆกล้าเล่า เพราะเรามีใจเป็นกลางในการรับฟัง ฟังทุกเรื่องที่เขาเล่า เพราะทุกเรื่องที่เล่าเป็นสิ่งที่เราต้องเรียนรู้ และก็อาจจะเนื่องจากเป็นคนหน้าตาใจดี แต่งตัวทันสมัย อยู่ในวัยกลางคน รวมทั้งคิดว่า Sex ก็คือกามกรีฑา เป็นรสนิยม ความชอบของบุคคล น้องๆจึงให้ความไว้วางใจ

การทำงานเป็นผู้ให้คำปรึกษา สิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงคือ การเคารพในความเป็นบุคคล เคารพในการตัดสินใจของเขา รสนิยมทางเพศของเขา จะถูกจะผิดก็เป็นเรื่องที่เขาต้องคิดต้องแก้ไขเอง เราเป็นเพียงผู้รับฟังเรื่องราวของเขา คอยสะท้อนกลับเรื่องราวที่เขาเล่า เพื่อให้เขาได้คิดทบทวน ไตร่ตรอง ตัดสิน และแก้ไขด้วยตัวเอง ผู้ให้คำปรึกษาจะรับฟัง ช่วยแก้ไขหรือชี้ทางหรือช่วยแนะนำให้ความรู้ ให้กำลังใจ 

โดยส่วนตัวจะเชื่อในทฤษฎี Information-Motivation-Behavior Change คือ บุคคลสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้ หากได้รับข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง และกำลังใจในการเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นเร็วขนาดไหนก็ขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล มีภูมิหลังอย่างไร ปัญหาใหญ่หรือเล็กและส่งผลกระทบมากไหม เช่น การใช้ถุงยางอนามัย น้องบางคนคุยครั้งเดียวก็ปรับพฤติกรรมได้เพราะติดซิฟิลิสมา บางคนอาจใช้เวลาเป็นปี หรือไม่สามารถปรับพฤติกรรมได้ อาจเป็นเพราะติดยาเสพติดทำให้เปลี่ยนแปลงยาก ทั้งนี้ผู้ให้คำปรึกษาต้องใจเย็นๆค่อยๆคุย บุญและกรรมของคนเราไม่เท่ากัน  

การทำงานให้คำปรึกษากับลูกค้าทุกคนจะคล้ายๆกัน เดินไปเรียกลูกค้าตามคิว เวลาเดินไปเรียกก็ควรสังเกตว่าลูกค้านั่งกับใคร หรือมาคนเดียว น้องบางคนมากับชายแก่อย่าคิดว่าเป็นพ่อหรือลุงเพราะบางทีเป็นป๋าจีบเด็กแถมไปรับเด็กมาจากหน้าโรงเรียน พ่อแม่นึกว่าลูกไปเตะบอล ที่ไหนได้....

เวลาเดินไปห้องให้คำปรึกษาก็เดินคู่ไปกับลูกค้า พูดคุยเรื่องดินฟ้าอากาศการจราจรกันไป เป็นการเริ่มต้นสร้างสัมพันธภาพ ลดความหวาดกลัว ต้องเข้าใจว่าทุกครั้งที่มาตรวจคนเรามักจะกลัวผลการตรวจมากกกก

เมื่อเข้ามาในห้องให้คำปรึกษาก็เริ่มด้วยการแนะนำตัวว่าเราเป็นใคร 

ระหว่างพูดคุยก็ต้องสังเกตการแต่งกายของน้องและกริยาท่าทาง บางคนจัดเต็มทั้งแว่นตาดำ ทั้งหมวก เสื้อแขนยาว บางคนแต่งชุดนักเรียน มักจะต้องบอกน้องว่า ครั้งหน้าให้แต่งตัวธรรมดาอย่าให้เป็นที่สนใจจะดีกว่า โดยเฉพาะชุดนักเรียน ให้ถอดเสื้อนักเรียนที่มีสัญลักษณ์โรงเรียนออกเอาเสื้อยืดใส่มาจะดีกว่า น้องก็จะบอกว่า ไม่เป็นไรครับพี่ ผมไม่ใช่คนสำคัญ เอ่อน้องคะน้องไม่ใช่คนสำคัญแต่โรงเรียนน้องคนรู้จักนะคะ คนจะมองกันค่ะ 

กริยาน้องก็สำคัญ น้องบางคนนั่งตัวบิดตัวงอ ต้องถามว่าเป็นอะไร เพราะบางครั้งน้องไม่กล้าบอก บางคนเจ็บก้น เพราะแผลซิฟิลิส หนองใน เคยทักน้องว่าเป็นอะไรถึงยอมบอกว่าไข่บวม ตรวจดูถึงเจอว่าเป็นหนองในแล้วไม่ยอมรักษาเพราะอาย อักเสบมาก คงปวดหน้าดู แต่กว่าจะบอกอาย....

สอบถามความประสงค์ที่มาในครั้งนี้ บางคนอาจจะเปิดเผยปัญหาทันที แต่บางคนอาจยังไม่กล้า หรืออาจไม่รู้ อาจต้องพูดคุยสอบถามและแนะนำว่าที่นี่ทำอะไรได้บ้าง มีบริการอะไรบ้าง 

เพื่อไม่ให้เสียเวลาบอกเขาไปเหอะว่ามีปัญหาอะไร หรือเป็นอะไรมา หรือสงสัยว่าจะเป็นอะไร เล่าให้ผู้ให้คำปรึกษาฟังเลยจะได้ไม่เสียเวลา และได้รับการรักษาหรือแก้ไขให้ถูกต้อง

ต่อจากการสร้างสัมพันธภาพ คือการสำรวจตรวจค้นประเมินตัวลูกค้า โดยสอบถาม ประวัติทั่วไป อายุ การเรียน การทำงาน อาชีพ อาศัยอยู่กับใคร สวัสดิการการรักษาพยาบาล ประวัติการตรวจเลือด การเจ็บป่วยในอดีต การแพ้ยา การบริจาคโลหิต การมีเพศสัมพันธ์ (กับหญิง หรือชาย) การใช้ถุงยางอนามัย รวมทั้งประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการรักษาที่เคยได้รับ เป็นการพูดคุยโดยใช้คำถามปลายเปิด ต้องคอยสังเกตสีหน้า ภาษากาย ผู้ให้คำปรึกษาควรมีความไวต่อความรู้สึกโดยคอยสังเกตท่าทีของผู้รับคำปรึกษาว่า กำลังครุ่นคิดสงสัยแต่ไม่กล้าถาม กำลังเศร้าเสียใจ และอื่นๆหรือไม่ อย่าลืมมีกำหนดเวลาในใจในการพูดคุย และคอยตรวจสอบว่าที่พูดคุยมาเข้าใจเหมือนกันไหม มีข้อสงสัยหรืออยากถามอะไรเพิ่มเติม ให้ทำเป็นระยะๆ 

ว่าไปแล้วชายรักชายคงมีมาตั้งแต่โบราณ แต่ด้วยขนบธรรมเนียมประเพณีทำให้ต้องเป็นที่ซ่อนเร้นและไม่ยอมรับในสังคม จนกระทั่งเมื่อเทคโนโลยี่สื่อสารออนไลน์ทำให้คนรสนิยมเดียวกันมาเจอกัน โดยเฉพาะการกำเนิดของ สมาร์ทโฟน เกิดแอปพลิเคชั่นต่างๆ เช่น Grindr, Hornet, Jack’D เป็นแหล่งสังคมชาวเกย์ ในปัจจุบันประเทศไทยเป็นสังคมที่ยอมรับ และเปิดกว้างสำหรับกลุ่มบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศที่เรียกย่อๆว่า LGBT: Lesbian, Gay, Bisexual และ Transgender เป็นที่นิยมของเกย์ชาวต่างชาติที่จะมาเปิดเผยตัวตนที่ประเทศไทย บางคนมาเที่ยวปาร์ตี้สงกรานต์ทุกปี และได้ของฝาก (HIV) จากไทยไปก็เยอะ ทำให้ปัจจุบันเราจะเห็นเด็กน้อย ดารา ผู้มีชื่อเสียงและบุคคลธรรมดาแสดงออกทางเพศกันเพิ่มขึ้น 

ทั้งยังมีเรื่องราวมากมายในมุมเล็กๆที่พ่อแม่ไม่เคยรู้  

เรื่องของเอก

เรื่องของบอม ต่อ แจ๊บ

เอสเพิ่งจบการศึกษาและเพิ่งได้งานทำ เลิกงานรุ่นพี่ที่ทำงานมักชวนไปเล่นไพ่ ดูบอลที่คอนโด บางครั้งก็มีเสพยา และ sex หมู่ ในช่วงคริสมาสตร์ปีใหม่มีปาร์ตี้ยาว จนไข้ขึ้น หยุดงาน 2-3 วัน วันนี้เลยมาขอเช็คเลือด

น้องทั้งหมดไม่มีประวัติโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ มาตรวจHIV ครั้งแรก ให้ทายซิว่าผลการตรวจ HIV ของแต่ละคนจะเป็นอย่างไร?

เรื่องของนพ

ถามทุกคนว่า พ่อแม่รู้ไหมว่า มีเพศสัมพันธ์แล้วกับผู้ชาย ทุกคนจะตอบว่า ไม่รู้

หากคุณมีลูกผู้ชาย คุณเคยรู้ไหมว่า โลกอีกด้านของเขาเป็นอย่างไร  คุณอยากรู้ไหม คุณจะทำอย่างไรหากรู้

มีเด็กวัยรุ่นชายที่ไร้เดียงสาอีกเป็นจำนวนมากที่มีเพศสัมพันธ์โดยไม่ใส่ถุงยาง ไม่เคยรู้จักโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างแท้จริง ถึงแม้จะมีการเรียนการสอนในโรงเรียน แต่ด้วยความอยากรู้อยากเห็น อยากมีอยากได้ สิ่งเร้าทางสังคมและฮอร์โมนทางเพศที่กระตุ้นเร่งเร้าผลักดัน เหตุการณ์ต่างๆอาจเกิดขึ้นได้เสมอ

จากรายงานของ World Bank ประเทศไทยมีผู้ติดเชื้อ HIV  440,000 คนและเสียชีวิตปีละ 1,200 คน ผู้ติเชื้อรายใหม่อยู่ในกลุ่มชายรักชายถึงร้อยละ 40 จากที่เห็นๆก็เป็นกลุ่มคนวัยเรียน วัยทำงาน ล้วนแล้วแต่เป็นกำลังสำคัญของชาติ 

สนใจอ่านฉบับเต็มได้ที่

https://www.worldbank.org/th/country/thailand/publication/scaling-up-hiv-treatment-for-men-who-have-sex-with-men-what-does-it-take

เป็นหน้าที่ของพ่อแม่ ผู้ปกครอง ครู และชุมชนที่ต้องเปิดใจให้กว้าง ยอมรับฟัง ให้คำแนะนำและช่วยเหลือให้น้องๆเดินไปในทางที่ถูกต้อง หากพลาดไปแล้วก็อย่าไปตีตราน้องๆต้องช่วยเหลือให้เขาสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้เท่าเทียมกับคนอื่น เช่น ให้มีคลินิกตรวจHIV/โรคติดต่อทางเพศศัมพันธ์และรักษาผู้ติดเชื้อHIVรวมอยู่ในแผนกอายุรกรรมไม่ต้องแยกออกมาให้คนรู้ว่ามาตรวจหรือเป็นผู้ติดเชื้อ อนุโลมให้มารักษาตอนเย็นที่เป็นคลินิกนอกเวลาได้น้องๆจะได้ไม่เสียเวลาเรียน ไม่ต้องตรวจHIVเวลาสมัครงานและอย่ารังเกียจเพราะมันไม่ได้ติดกันง่ายเหมือนโควิด-19

หากคุณมีเพศสัมพันธ์ ไม่ว่ากับหญิง หรือชาย อย่าลืมใส่ถุงยางอนามัยทุกครั้ง ไปตรวจHIVและซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้ง 

วันเสาร์ที่ 27 มิถุนายน พ.ศ. 2563

หวัง

หวัง

ปาริชาติ เป็นสาวเปรี้ยวทันสมัย หน้าที่การงานดี ทำงานในบริษัทฝรั่งเงินเดือนสูง ใช้ชีวิตหรูหราฟุ่มเฟือย ของใช้ต้องแบรนด์แนม  เครื่องประดับเพชรพลอยมีราคา และจัดเต็มทุกครั้งที่ออกจากบ้าน 

เพราความงามของเธอทำให้มีผู้ชายมากหน้าหลายตาแวะเวียนเข้ามาในชีวิตมาจีบ ได้แต่งงานมีชีวิตคู่ 3 ครั้ง คนที่หนึ่งเป็นไฮโซชาติตระกูลสูง มีบุตรสาวและบุตรชายร่วมกัน คนที่ 2 เป็นทนายความอยู่กันได้ 5-6 ปีก็เลิกกันเพราะผู้ชายเจ้าชู้มาก คนที่ 3 เป็นนักธุรกิจ เสียชีวิตด้วยโรคหัวใจ ปาริชาติครองชีวิตแม่หม่ายด้วยความสุขใจ บุตรสาวและบุตรชายหลังจากไปเรียนต่างประเทศก็ไม่กลับมา

เมื่อปาริชาติเกษียณอายุได้เงินล่ำซำเหมือนคนถูกลอตเตอรี่รางวัลที่ 1 ญาติพี่น้องผู้คนเพื่อนฝูงมาห้อมล้อม ขอหยิบยืมเงิน บ้างก็ว่าจะไปปล่อยกู้ให้จะเอาดอกมาให้เธอใช้จ่าย  ปาริชาติซึ่งเป็นคนใจสปอร์ตให้เงินไปโดยไม่มีเอกสารสัญญา วันเวลาผ่านไป ปาริชาติแวะเวียนมาที่ทำงานเก่าเพื่อเก็บดอกเบี้ยตามลูกหนี้สัญญาไว้ ได้เศษเงินกลับมาทีละ 20 บาท 30 บาท ถ้าเขากรุณาก็จะได้ซัก 100 บาท บางคนชักดาบ แถมยังมองเธอแบบเหยียดๆเหมือนเธอเป็นขอทาน จวบจนใกล้วันสิ้นลมหายใจปาริชาติยังคงวนเวียนมาที่ทำงานเก่า เพราะความหวัง..............

วันพุธที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เชียงราย – พะเยา - น่าน – แพร่

ขับรถเที่ยวเชียงราย – พะเยา - น่าน  – แพร่  5 วัน

วันที่ 1 พฤหัสต้นเดือน ขับรถออกจากบ้านกทม. ตี 5 ถึงเชียงรายประมาณ 4 โมงเย็น โดยใช้เส้นทาง นครสวรรค์ > ตาก > ลำปาง > พะเยา > เชียงราย ประมาณ 800 กิโลเมตร ถนนดี 4 เลนตลอดสาย โชคดีไม่มีพบปะตำรวจทางหลวง ถึงเชียงรายเช็คอินที่พักที่โรงแรมในใจกลางเมือง

ติดต่อ กรุ๊ปทัวร์ เพื่อเที่ยวชม 11 สถานที่ ในเชียงราย ในราคา 990 บาทวันพรุ่งนี้ ตกเย็นเดินเล่นตลาดไนท์บาซ่า รับประทานอาหารเย็น เสร็จแล้วไปชมหอนาฬิกา 7 สีตอน 1 ทุ่มจะมีเพลงประกอบแสงสีเสียง

 

วันที่ 2 วันศุกร์ โปรแกรมกรุ๊ปทัวร์ชม วัดร่องขุ่น วัดร่องเสือเต้น บ้านดำ พิพิธภัณฑ์ฝิ่น ไร่ชา กระเหรี่ยงคอยาว สามเหลี่ยมทองคำ แม่สาย เชียงแสน วัดผาเงา ถ้ำปูถ้ำปลา


มีไกด์เป็นสาวสวยแต่งตัวชุดพื้นเมืองล้านนา พร้อมผู้ช่วย ขับรถตู้มารับที่โรงแรม


เนื่องจากไม่ใช่ฤดูการท่องเที่ยว กรุ๊ปจึงมีลูกค้าเป็นชาวเยอรมัน 2 คน และกลุ่มเราที่เป็นคนไทย 2 คน เพื่อความสะดวกในการสนทนาจึงใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก การไปเที่ยวในกรุ๊ปทัวร์ช่วยย่นเวลาในการท่องเที่ยว ไม่หลงทาง ไม่เหนื่อยขับรถ ได้ความรู้และเป็นการสนับสนุน Local Business เขาอาจจะไม่ดูแลเท่าเทียมชาวต่างชาติ ก็อย่าไปคิดอะไรมาก ราคาของชาวต่างชาติแพงกว่าเรา ตอนกลางวันพาแวะเลี้ยงอาหารไทยแบบบุฟเฟ่ต์ รสชาดอร่อยใช้ได้ นักท่องเที่ยวมารวมกันจากหลายกรุ๊ปทัวร์น่าจะเที่ยวคล้ายๆกัน เป็นชาวจีนเป็นส่วนใหญ่ เที่ยววันนี้ไม่ครบตามโปรแกรมเพราะไม่ทันหรอก ไม่น่าเขียนมาซะเยอะ น่าจะเอาตามจริงที่ทำได้ ถ้าไปเจอฝรั่งเขี้ยวๆ เขาไม่ยอมหรอก แต่กลุ่มเราเข้าใจและไม่เร่งรีบ เวลาตามความเหมาะสม ได้เที่ยวที่สำคัญๆครบก็พอ 


ได้ไปวัดร่องขุ่น วัดร่องเสือเต้น บ้านดำ สวยงามน่าสนใจดี พิพิธภัณฑ์ฝิ่นงั้นๆ มาถึงแล้วก็เข้าไปดูซะหน่อย ส่วนกระเหรี่ยงคอยาวเสียตังค่าเข้า 100 บาท ไม่ได้เข้าไปเพราะเคยเห็นของจริงที่เป็นชาวบ้านจริงๆนานแล้ว น่าสงสาร มากกว่า เลยนั่งๆนอนๆกินสับปะรดภูแลรออยู่ด้านหน้า ฝรั่งดูเสร็จออกมาบ่นฉันไม่น่าเข้าไปดูเลย น่าสงสารเขา เราเลยบอกไปว่า การมาดูพิพิธภัณฑ์ฝิ่นและเยี่ยมชาวกระเหรี่ยงคอยาวของยูเป็นการช่วยเหลือเขาให้มีรายได้ และยูก็จะได้เห็นชนเผ่าแบบนี้ที่มีที่เดียวในโลก ดูจะสบายใจละ ฮิๆ แวะชมแม่น้ำโขง ตรงสามเหลี่ยมทองคำ เห็นความเปลี่ยนแปลงฝั่งลาวมากๆ สมัยก่อนจะเป็นป่าเขาลำเนาไพร ตอนนี้เขาบอกจีนมาลงทุนทำเมืองใหม่ใหญ่โตมากๆ ที่สุดท้ายไปเชียงแสน ชมวัดและเมืองเก่า กลับถึงที่พักประมาณ 6 โมงเย็น เลยเดินเล่นชมเมืองและหอนาฬิกาอีกรอบ แวะซื้อไส้อั่วเดินกินเล่น และของฝาก


 

วันที่ 3 วันเสาร์ พะเยา – น่าน

ใช้เส้นทางเชียงราย พะเยา งาว สอง ร้องกวาง เวียงสา น่าน ระยะทางประมาณ 300 ก.ม. ใช้เวลา 4 ช.ม. 

รับประทานอาหารเช้าเสร็จออกจากเชียงราย ไปแวะถ่ายรูปที่กว๊านพะเยาและวัดศรีโคมคำ

เส้นทางต่อจากนี้เป็นป่าเขาไม่ค่อยมีปั๊มน้ำมัน อย่าลืมเติมน้ำมันให้เต็มถังก่อนออกเดินทาง และอย่าลืมขับรถด้วยความระมัดระวัง


ถึงจังหวัดน่านเช็คอินที่พักแถว "ถนนคนเดินกาดข่วงเมืองน่าน" ที่อยู่ตรงวัดภูมินทร์ แล้วเดินไปซื้อตั๋วนั่งรถรางชมเมืองที่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยวตรงข้ามวัดภูมินทร์ เสียค่าใช้จ่าย 30 บาท/ที่นั่ง ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมงในการเที่ยวชม วัดสวนตาล พิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพระเกิด โฮงเจ้าฟองคำ วัดดอนแก้ว พระธาตุวัดดอนแก้ว วัดมหาโพธิ วัดหัวเวียงใต้ ผ่านกำแพงและป้อมประตูเมือง และบ้านทำเครื่องเงินโบราณลุงบุญช่วย 

ระหว่างรอขึ้นรถแวะชิมข้าวซอยตรงร้านใกล้วัดภูมินทร์ 

กลับจากนั่งรถรางเดินเล่นถ่ายรูป ศาลหลักเมือง วัดศรีพันต้น วัดน้อยซึ่งเป็นวัดที่เล็กที่สุดในประเทศไทยตั้งอยู่ในบริเวณพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติน่าน วัดภูมินทร์ วัดมิ่งเมือง 

เย็นพอดี ได้เดินถนนคนเดินน่านเลย มีชาวน่านมาขายสินค้าและอาหารพื้นเมืองมากมาย มีบริเวณตั้งขันโตกให้รับประทานกลางแจ้ง ดีมาก ดีกว่าตลาดนัดที่เชียงราย





วันที่ 4 วันอาทิตย์ แพร่ 

รับประทานอาหารเช้าเสร็จเดินทางไปวัดแช่แห้งสักการะพระธาตุแช่แห้งพระธาตุประจำผู้เกิดปีเถาะเพื่อเป็นสิริมงคลก่อนเดินทางไปแพร่ เส้นทางจากน่านไปแพร่ใช้เวลาประมาณ 4 ชม.ทางคดเคี้ยวผ่านเขาควรขับรถด้วยความระมัดระวัง

ก่อนถึงเมืองแพร่  แวะเที่ยววนอุทยานแพะเมืองผี แล้วเข้าเมืองไปนั่งรถรางฟรี ขึ้นรถที่คุ้มเจ้าหลวงเมืองแพร่ ตรงข้ามโรงเรียนนารีรัตน์ มีเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ รถหลายรอบ 10.00 . 14.00 น.และ16.00 น. พาชม คุ้มเจ้าหลวง เมืองแพร่ ศาลหลักเมืองแพร่ วัดหลวง วัดพงษ์สุนันท์ บ้านวงศ์บุรี วัดพระนอน คุ้มวิชัยราชา บ้านหลวงศรีครานุกูล วัดเมธังกราวาส วัดสระบ่อแก้ว มัคคุเทศก์ เป็นจิตอาสามาก่อนลงจากรถให้ทิปน้องเป็นสินน้ำใจกันหน่อย


กินขนมจีนน้ำใส ขับรถเที่ยวเองรอบเมืองต่อที่ บ้านประทับใจ วัดพระธาตุช่อแฮ 

นอนโรงแรมใกล้ถนนคนเดิน ถนนคนเดินแพร่จะมีวันอาทิตย์แรกของเดือน ถนนเจริญเมือง ตรงหัวถนนเจริญเมืองตัดกับถนนเลียบกำแพงเมืองด้านนอก เลยทำให้ทริปนี้ต้องวางแผนมาต้นเดือน 


วันที่ 5 กลับกรุงเทพ 

สำหรับแพร่และน่าน ถ้ามีโอกาสจะไปอีก แต่คงนั่งเครื่องบินไปดีกว่า เร็วและไม่เหนื่อย ไปทีละจังหวัด

มีสิ้นค้าพื้นเมืองเป็นผ้าทอมือสวยงาม อาหารอร่อย ผู้คนเป็นมิตร 


วันจันทร์ที่ 22 มิถุนายน พ.ศ. 2563

เที่ยวทั่วไทย: เตรียมตัวขับรถเที่ยว Prepare for Self-drive Travel in Thailand

เที่ยวทั่วไทย: เตรียมตัวขับรถเที่ยว Prepare for Self-drive Travel in Thailand 

ปัจจุบันนี้การเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองในประเทศทำได้ไม่ยาก หากเราสามารถลาหยุดได้ยาวๆ แต่ไม่ควรจะเป็นวันหยุดยาวๆที่คนจะไปรวมตัวกันทุกสถานที่ท่องเที่ยว สถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทยก็มีเยอะมาก แต่ละภาค แต่ละจังหวัดก็มีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องภาษา อาหาร วัฒนธรรม สินค้าพื้นเมือง วัด เมืองไทยมีสถานที่มากมายให้เราเรียนรู้ 

เราสามารถเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเองได้หลายรูปแบบ ตั้งแต่เช่ารถตู้ นั่งรถประจำทาง นั่งเครื่องบิน หรือรถไฟไปยังสถานที่ที่เราต้องการไปเที่ยว เคยรู้จักน้องผู้ชายคนหนึ่งเธอเล่าว่าเธอเบี้ยน้อยหอยน้อย แต่ชอบท่องเที่ยวโดยใช้บริการรถไฟฟรีไปเที่ยว นอนตามวัดและเรียนรู้ผู้คนในที่ต่างๆ เป็นการท่องเที่ยวที่ใช้งบประมาณน้อย แต่ก็ต้องคิดถึงเรื่องความปลอดภัยด้วย สำหรับผู้เขียนชอบขับรถส่วนตัวเที่ยวเพราะอยากซื้ออะไรก็ซื้อใส่รถได้ ไปตามที่ที่เราสนใจ

ก่อนไปขับรถเที่ยวเอง ควรต้องมีแผนการเดินทาง รีวิวของคนอื่น ดูว่าเดือนนี้ที่ที่เราจะไปมีกิจกรรมอะไรน่าสนใจ มีร้านอาหารอะไรที่ต้องไปชิม มีที่ไหนที่ต้องแวะ ของอะไรที่ต้องซื้อ สำรวจเส้นทางโดย google map ให้เรียบร้อยก่อน เตรียมรถให้พร้อมเช็คสมรรถภาพของรถ เตรียมร่างกายให้แข็งแรงเพราะต้องขับรถทางไกล เลือกและจองโรงแรมให้เรียบร้อยปกติชอบจองวันต่อวันทางเวปไซด์ต่างๆ สะดวกมาก ก่อนจองควรรีวิวดูซะหน่อยว่าปลอดภัยไหม ดูพยากรณ์อากาศด้วยว่า อากาศร้อนหรือหนาว จะได้เตรียมเสื้อผ้าไปถูก 

ของติดรถไปด้วย น้ำดื่มเป็นขวดๆคนละขวด ขนม/ของกินเล่น กระดาษชำระ ถุงขยะ ร่ม ผ้าขี้ริ้ว เผื่อต้องเช็ดรถยามฝนตกหนัก หรือมีของหกเลอะในรถ 

เตรียมกระเป๋าเดินทาง ตามจำนวนวันที่ไป + 2 ถึง 3 ชุด เผื่อมีเหตุฉุกเฉิน

หารองเท้าที่เดินสบายๆ รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ รองเท้าส้นแบบ (Flats)

เสื้อผ้าที่ไม่ต้องรีดม้วนได้

ชุดใส่นอนอาจใช้ 1 ชุด ใส่ซัก 3 วัน

เตรียมชุดสวยๆไว้ใส่ถ่ายรูป ปกติชอบใส่เสื้อหลายๆชั้นตามความหนาว มีเสื้อยืดแขนสั้นแนบตัวอยู่ในสุด ชั้นต่อมาเป็นเสื้อแขนยาว ตามด้วยสเวตเตอร์ และเสื้อแจ็คเก็ต หรือเสิ้อโค้ทตามความหนาวของอากาศ

เครื่องใช้อาบน้ำ ผ้าเช็ดตัว แชมพู สบู่ ปกติโรงแรมจะมีให้แล้ว แต่คุณภาพมักไม่ค่อยดี ควรมีของที่เราชอบติดไปด้วย ยาสีฟัน แปรงสีฟัน โรลออน เครื่องประทินโฉมสำหรับสาวๆ เช่น แป้ง ลิปสติก ที่ทาแก้ม ทาตา น้ำหอม ครีมต่างๆ เช่น ครีมบำรุงผิวและกันแดด ถ้าไปนานอย่าลืมกรรไกรตัดเล็บด้วย

ถุงพลาสติกใส่เสื้อผ้าใช้แล้ว 

แก็ตแจ็ตต่างๆ เช่น Headphones, Chargers, Power Bank, ปลั๊กพ่วง, ไม้เซลฟี่ 

ของในกระเป๋าสะพาย บัตรประจำตัวประชาชน ใบขับขี่รถยนตร์ เงิน โทรศัพท์มือถือ อย่าลืมเอาสายชาร์ทและpower bankไปด้วย  ยาประจำตัวและยาที่จำเป็นเช่นยาแก้ไข้ ยาแก้ท้องเสีย ยาแก้เวียนศีรษะ เครื่องสำอางแบบพกพาไว้แต่งหน้า ถุงผ้า ขวดเปล่าไว้ใส่น้ำกิน หมวก ผ้าพันคอ แว่นตา หวี กระดาษทิชชูเปียกและแห้ง เพราะการระบาดของโรคCOVID-19 อย่าลืมหน้ากากอนามัยและเจลแอลกอฮอล์แบบพกพา

 

 


วันพฤหัสบดีที่ 18 มิถุนายน พ.ศ. 2563

DEXAMETHASONE RECOVERY : ยาเดกซาเมทาโซนในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19

Dexamethasone: RECOVERY 8 June 2020

การวิจัยยาเดกซาเมทาโซนในการรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19: โครงการ RECOVERY

ทีมวิจัยโครงการ RECOVERY ได้นำเสนอข้อมูลเบื้องต้นการวิจัยยา Dexamethasone ในผู้ป่วยโควิด-19 โครงการ RECOVERY เริ่มทำมาตั้งแต่เดือนมีนาคม 2563 มีผู้ป่วยเข้าร่วมโครงการประมาณ 11,500 ราย ทำใน 175 โรงพยาบาลของสหราชอาณาจักร โดยป่วยจะถูกสุ่มให้เข้ากลุ่มต่างๆ 5 กลุ่ม ในสัดส่วน 2:1 ระหว่างการรักษาตามอาการแบบมาตรฐานปกติกับรับการรักษาด้วยยาชนิดต่างๆตามแต่ที่โรงพยาบาลนั้นๆจะมี ในสัดส่วน 2:1 หรือ 2:1:1 หรือ 2:1:1:1 ได้แก่

กลุ่มที่ 1 การรักษาตามอาการแบบมาตรฐานปกติ ไม่มีการใช้ยาเพิ่มเติม    

กลุ่มที่ 2 lopinavir / ritonavir ซึ่งเป็นยาที่ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อ HIV

กลุ่มที่ 3 low dose dexamethasone ซึ่งเป็นกลุ่มยาสเตียรอยด์ที่สามารถช่วยลดการอับเสบ

กลุ่มที่ 4 hydroxychloroquine ใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อมาลาเรีย

กลุ่มที่ 5 azithromycin ซึ่งเป็นยาปฎิชีวนะชนิดหนึ่ง 

เมือ 5 มิถุนายน 2563 ทีมวิจัยโครงการ RECOVERY  ประกาศหยุดรับอาสาสมัครในการวิจัยยาในกลุ่มยาHydroxychloroquine เพราะไม่ได้ลดอัตราการตายของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่นอนโรงพยาบาลเมื่อเทียบกับรักษาตามอาการแบบมาตรฐานปกติ

และเมื่อวันที่ 8 มิถุนายน ได้หยุดรับผู้ป่วยในกลุ่มที่ได้รับยา Dexamethasone 6 mg ต่อวัน อาจจะโดยการรับประทานยา หรือฉีดเข้าเส้นเลือด เป็นเวลา 10 วัน โดยมีผู้ป่วยที่สุ่มได้รับยานี้จำนวนทั้งหมด 2104 คน เปรียบเทียบกับผู้ป่วยจำนวน 4321 คนที่สุ่มเข้ากลุ่มรักษาตามอาการ ซึ่งเป็นจำนวนอาสาสมัครที่พอสำหรับวิเคราะห์ว่ายานี้ใช้ในการรักษาได้ดีหรือไม่แล้ว

ในจำนวนผู้ที่สุ่มเข้ากลุ่มรักษาตามอาการ อัตราการตายที่วันที่ 28 พบมากสูงสุดในคนที่ต้องใส่เครื่องช่วยหายใจเป็นจำนวน 41% รองลงมาเป็นกลุ่มที่ต้องให้ออกซิเจนเป็นจำนวน 25% และอัตราการตายพบน้อยที่สุด จำนวน 13 % ในกลุ่มที่มีการหายใจค่อนข้างปกติไม่ต้องใช้วิธีใดๆส่งเสริมการหายใจ

ผลการวิจัยพบว่า Dexamethasone ช่วยลดอัตราการตายได้ 1 ใน 3 สำหรับผู้ป่วยที่ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ (rate ratio 0.65 [95% confidence interval 0.48-0.88]; p=0.0003)   ลดอัตราการตายได้ 1 ใน 5 สำหรับป่วยที่ได้รับออกซิเจนแบบอื่นๆ (0.80 [0.67 to 0.96]; p=0.0021) และการให้Dexamethasone ก็ไม่เกิดประโยชน์กับผู้ป่วยที่ไม่ต้องให้การส่งเสริมการหายใจ (1.22 [0.86 - 1.75; p=0.14) 

จากผลการวิจัยนี้ จะเห็นว่า การรักษาด้วยการใช้ยาDexamethasoneช่วยป้องกันผู้ป่วยเสียชีวิตได้ 1 คน จากผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจประมาณ 8 คน หรือให้ออกซิเจนแบบอื่นๆประมาณ 25 คน

สรุปได้ว่า ยาDexamethasone ซึ่งเป็นยาที่มีราคาถูก มีอยู่ทุกโรงพยาบาลและมีใช้อย่างแพร่หลายทั่วโลก สามารถลดอัตราการตายของผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่นอนโรงพยาบาลจากอาการแทรกซ้อนที่รุนแรงจากโรคโควิด-19ได้

สรุปมาจาก http://www.ox.ac.uk/news/2020-06-16-dexamethasone-reduces-death-hospitalised-patients-severe-respiratory-complications?fbclid=IwAR3mkKJTbXHNtoSaEVX8MpBduqKiZ5iKpv4-m4X_DTanebApmhUGR0_gH-o


วันอังคารที่ 16 มิถุนายน พ.ศ. 2563

การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 วัคซีน 2019-nCoV (mRNA-1273)

การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 วัคซีน 2019-nCoV (mRNA-1273)  
โดยทั่วไปเมื่อการวิจัยทางคลินิกระยะที่ 1 เสร็จสิ้นและมีข้อมูลด้านความปลอดภัยเพียงพอ การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 ที่จะมีความเข้มข้นและมีการควบคุมเป็นอย่างดีจึงเริ่มต้นขึ้น มี 80% ของการวิจัยยาใหม่ในระยะที่ 2 มักล้มเหลวเนื่องยาประสิทธิภาพของยาไม่ดีพอ การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อประเมินประสิทธิภาพของยา ดูว่ายาทำงานได้ดีในสภาพแวดล้อมที่ถูกควบคุมหรือไม่ ประเมินความปลอดภัยของยาต่อ ค้นหาผลข้างเคียงและหาขนาดยาที่เหมาะสมและความถี่ในการให้ยา (เช่น หนึ่งหรือสองครั้งต่อวัน) จะทำในอาสาสมัครกลุ่มใหญ่ขึ้น ประมาณ 100-500 ใช้เวลาโดยประมาณ 6 เดือนถึง  1 ปี จึงอาจเสร็จ 
เนื่องจากภาวะวิกฤตจากการระบาดของโรคโควิด-19 และความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี่ในปัจจุบัน เอื้ออำนวยให้การวิจัยมีความรวดเร็วขึ้น เป็นเรื่องน่ายินดีว่าผลการวิจัยเบื้องต้นในการวิจัยระยะที่ 1  แบบเปิด เพื่อศึกษาความปลอดภัยและฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกัน จากปริมาณวัคซีน 2019-nCoV (mRNA-1273) ที่แตกต่างกัน ในผู้ใหญ่สุขภาพดีและหญิงสุขภาพดีที่ไม่ตั้งครรภ์ อายุ 18-55 ปี ในจำนวนอาสาสมัครทั้งหมด 45 คน ที่ได้รับวัคซีนแบบฉีด 2 เข็มห่างกัน 28 วัน เปรียบเทียบกับการฉีดแบบ 3 เข็ม ที่เริ่มทำตั้งแต่เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2563 พบว่า หลังการฉีดวัคซีนเพียงเข็มเดียว อาสาสมัครทั้งหมดมีภูมิคุ้มกันต่อไวรัสแล้วในวันที่ 15 หลังการฉีดเข็มแรก  และอาสาสมัคร 8 คนที่ฉีดวัคซีน 2 เข็มก็มีภูมิคุ้มกันขึ้นเหมือนคนที่ติดเชื้อโควิด-19แล้ว  
ที่วันที่ 43 สองอาทิตย์หลังการฉีดเข็มที่ 2 อาสาสมัคร 15 คนที่ได้รับการฉีดวัคซีน 25 μg ก็มีภูมิคุ้มกันขึ้นเหมือนคนที่หายจากโรคโควิด-19 และ อาสาสมัคร 10 คนที่ได้การฉีดวัคซีน 100 μg ก็มีภูมิคุ้มกันขึ้นมากกว่าคนที่หายจากโรคโควิด-19อย่างมีนัยสำคัญ  
สรุปว่า 2019-nCoV (mRNA-1273) กระตุ้นภูมิได้ดี และมีผลข้างเคียงน้อย 
ทางบริษัทโมเดอร์นาได้ประกาศเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม 2563 ว่า องค์การอาหารและยาของประเทศสหรัฐอนุมัติแบบเร่งด่วนให้ดำเนินการทดสอบวัคซีน 2019-nCoV (mRNA-1273) ระยะที่ 2 เพื่อประเมิน  ความปลอดภัย ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นจากการฉีดวัคซีน และดูฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีนที่ 2 ขนาดคือ 50 หรือ 100 ไมโครกรัมในผู้ใหญ่ที่มีอายุเท่ากับ 18 ปี หรือมากกว่า ได้แล้ว ตามข้อมูลที่ปรากฏในเวปไซด์ www.clinicaltrials.gov
แถมยังประกาศว่า จะทำการวิจัยวัคซีน 2019-nCoV (mRNA-1273) ระยะที่ 3 ในเดือนกรกฎาคม 2563 ในอาสาสมัคร 30,000 คน  
ชื่อโครงการแบบเป็นทางการ การวิจัยระยะที่ 2 a, แบบสุ่มปกปิดควบคุมด้วยยาหลอกยืนยันขนาดยา เพื่อประเมินความปลอดภัย ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้น  และ ฤทธิ์กระตุ้นภูมิคุ้มกันของวัคซีน mRNA-1273 SARS-COV-2 ในผู้ใหญ่อายุเท่ากับ 18 ปี หรือมากกว่า (A Phase 2a, Randomized, Observer-Blind, Placebo Controlled, Dose-Confirmation Study to Evaluate the Safety, Reactogenicity, and Immunogenicity of mRNA-1273 SARS-COV-2 Vaccine in Adults Aged 18 Years and Older) 
การวิจัยทางคลินิกระยะที่ 2 นี้ จะทำในอาสาสมัครที่มีสุขภาพดี จำนวน 600 คน จะเป็นอาสาสมัครที่มีอายุ 18-55 ปี จำนวน 300 คน และอาสาสมัครที่มีอายุมากกว่า 55 ปี จำนวน 300 คน  
อาสาสมัครจะได้รับการสุ่มให้ได้รับวัคซีนขนาดใดขนาดหนึ่งใน 2 ขนาด คือ 50 μg หรือ 100 μg  หรือยาหลอกซึ่งเป็นน้ำเกลือที่ฉีดเข้าร่างกายคนได้ (saline) โดยฉีดเข็มที่ 1และ 2 ห่างกัน 28 วัน 2 ครั้ง  อาสาสมัครทั้งหมดจะถูกติดตามระดับภูมิคุ้มกันเป็นเวลา 1 ปี  
โครงการนี้ได้เริ่มทำวิจัยเมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2563 คิดว่าจะเสร็จประมาณ สิงหาคม 2564 โดยแบ่งอาสาสมัครดังนี้  
กลุ่มที่ 1 อาสาสมัครอายุ 18-54 ปี จะได้รับวัคซีน mRNA-1273 ขนาด 50 mcg หรือ ยาหลอก (Saline)
             อาสาสมัครอายุมากกว่า 55 ปี จะได้รับวัคซีน mRNA-1273 ขนาด 50 mcg หรือ ยาหลอก (Saline)
กลุ่มที่ 2 อาสาสมัครอายุ 18-54 ปี จะได้รับวัคซีน mRNA-1273 100 mcg หรือ ยาหลอก (Saline)
             อาสาสมัครอายุมากกว่า 55 ปี จะได้รับวัคซีน mRNA-1273 ขนาด 100 mcg หรือ ยาหลอก (Saline) 
การประเมินผลลัพธ์หลัก
1.  เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์เฉพาะที่และทุกระบบในร่างกายที่มีข้อมูลบันทึกอยู่ในโครงร่างการวิจัยและคู่มือผู้วิจัย (Solicited AEs) ที่เกิดขึ้นในกรอบเวลา 7 วันหลังการฉีดวัคซีน
2.  เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์อื่นๆที่พบ (Unsolicited AEs) ในกรอบเวลา 28 วันหลังการฉีดวัคซีน
3.  เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ทางการแพทย์ของโรคเรื้อรังที่มีอยู่เดิมแล้วกำเริบรุนแรงขึ้น (Medically-attended adverse events :MAAEs)ในกรอบเวลาตั้งแต่เดือนที่ 0 ถึง เดือนที่ 13
4.  เหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ร้ายแรง (Serious adverse events :SAEs)ในกรอบเวลาตั้งแต่เดือนที่ 0 ถึง เดือนที่ 13
5.  การเปลี่ยนแปลงค่าทางห้องปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางคลินิก (clinical safety laboratory)ในกลุ่มที่ 2 จากค่าพื้นฐาน (baseline) ตลอดระยะเวลา 1 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนครั้งสุดท้าย
6.  จำนวนและร้อยละของผู้เข้าร่วมโครงการที่ประเมินพบมีความผิดปกติของความดันโลหิต อุณหภูมิร่างกาย อัตราการเต้นของหัวใจ หรืออัตราการหายใจ ตลอดระยะเวลา 1 ปีหลังจากฉีดวัคซีนครั้งสุดท้าย
7.  จำนวนและร้อยละของผู้เข้าร่วมโครงการที่ประเมินพบมีความผิดปกติจากการตรวจร่างกาย ตลอดระยะเวลา 1 ปีหลังจากฉีดวัคซีนครั้งสุดท้าย
8.  ประเมินภูมิคุ้มกันของmRNA-1273 จากการดู titer ของ SARS-CoV-2-specific binding antibody (bAb) โดยวิธี ELISA ตลอดระยะเวลา 1 ปีหลังจากฉีดวัคซีนครั้งสุดท้าย 
การประเมินผลลัพธ์รอง
1.    ค่า titer ของSARS-CoV-2-specific neutralizing antibody (nAb)ตลอดระยะเวลา 1 ปีหลังจากฉีดวัคซีนครั้งสุดท้าย
2.    ค่า Seroconversion ที่วัดจากการเพิ่มขึ้นของ SARS-CoV-2-specific neutralizing antibody (nAb) titer ตลอดระยะเวลา 1 ปีหลังจากฉีดวัคซีนครั้งสุดท้าย 
คุณสมบัติของผู้เข้าร่วมโครงกา
เกณฑ์คัดเลือกอาสาสมัครเข้าร่วมโครงการ อาสาสมัครที่เข้าร่วมโครงการนี้ต้องมีคุณสมบัติตามที่กำหนดระหว่างช่วงที่คัดกรองและในวันที่ 1 เว้นแต่จะระบุไว้เป็นอย่างอื่น
1.    ชาย หรือ หญิง อายุ 18 ปีหรือมากกว่าในวันที่ยินยอมเข้าร่วมโครงการ (วันนัดคัดกรองวันที่ 0)
2.    เข้าใจและตกลงจะปฏิบัติตามกระบวนการวิจัยและให้ความยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษร
3.    จากการประเมินของผู้วิจัย พบว่ามีสุภาพดีและสามารถปฏิบัติตามกระบวนการวิจัยได้
4.    ค่าดัชนีมวลกาย (Body mass index: BMI) 18 kg/m2 ถึง 30 kg/m2 ในวันนัดคัดกรองวันที่ 0
5.    หญิงที่ไม่มีโอกาสตั้งครรภ์ (non-childbearing potential) อาจจะเข้าร่วมโครงการได้
หญิงที่ไม่มีโอกาสตั้งครรภ์หมายถึง หญิงที่ทำหมันโดยการผ่าตัด (มีประวัติตัดท่อนำไข่ออกตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างตัดมดลูกหรือหญิงที่หมดประจำเดือน (ไม่มีประจำเดือนมาเท่ากับ หรือมากกว่า 12 เดือนติดต่อกันก่อนคัดกรองวันที่ 0 โดยไม่มีสาเหตุทางการแพทย์อื่นใดอาจจะมีการวัดระดับ follicle-stimulating hormone (FSH)ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้วิจัยเพื่อยืนยันสถานการณ์หมดประจำเดือน (postmenopausal status)
6.    หญิงที่มีโอกาสตั้งครรภ์อาจจะเข้าร่วมโครงการได้ หากมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้
·      มีผลการตรวจการตั้งครรภ์เป็นลบ ที่การคัดกรองวันที่ 0 และวันที่ฉีดวัคซีนครั้งแรก (วันที่ 1)
·      มีการคุมกำเนิดที่เหมาะสม หรือยกเว้นกิจกรรมทางเพศทั้งหมดที่จะทำให้มีโอกาศตั้งครรภ์ได้เป็นเวลาอย่างน้อย 28 วันก่อนได้รับวัคซีนเข็มแรก (วันที่ 1)
·        ตกลงที่จะมีการคุมกำเนิดที่เหมาะสมตลอดระยะเวลา 3 เดือนหลังจากฉีดวัคซีนเข็มที่ 2 (วันที่ 29)
·      ไม่ได้กำลังให้นมบุตรอยู่ในขณะนี้

การคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับผู้หญิง หมายถึง การใช้วิธีการคุมกำเนิดที่ได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยา (Food and Drug Administration: FDA)อย่างสม่ำเสมอตามที่กำหนดไว้ในใบกำกับยา ตัวอย่างเช่น
·         โดยวิธีขวางกั้น (Barrier method) เช่น การใช้ถุงยางอนามัย(condoms) หมวกยางกั้นช่องคลอด (diaphragm) หมวกยางครอบปากมดลูก (cervical cap) ร่วมกับยาฆ่าอสุจิ (spermicide)
·         ห่วงอนามัย (Intrauterine device)
·         ยาคุมกำเนิด โดยการกินยาเม็ด ใช้แผ่นปะ ฉีดยาคุมกำเนิดทั้งแบบใต้ผิวหนังหรือเข้ากล้ามเนื้อ
·         การทำหมันชายที่เป็นคู่สมรส (คู่เพศสัมพันธ์ที่มีเพียงคนเดียวของผู้เข้าร่วมโครงการเพศหญิงก่อนเข้าร่วมโครงการ

หมายเหตุ ห้ามไม่ให้ใช้วิธีการคุมกำเนิดแบบงดการมีเพศสัมพันธ์เป็นช่วงๆ เช่น การดูปฏิทิน การนับวันไข่ตก การวัดอุณหภูมิ การหลั่งนอกช่องคลอด เป็นต้น
7. หญิงวัยเจริญพันธ์ต้องมีผลตรวจการตั้งครรภ์จากปัสสาวะ หรือเลือด เป็นลบภายใน 24 ชั่วโมงก่อนได้รับวัคซีนแต่ละครั้ง
8.อาสาสมัครชายที่มีเพศสัมพันธ์กับคู่เพศสัมพันธ์ที่มีโอกาสตั้งครรภ์ได้ต้องตกลงที่จะคุมกำเนิดอย่างเหมาะสมนับตั้งแต่วันที่ได้รับวัคซีนครั้งที่ 1 และตลอดระยะเวลา 3 เดือนหลังได้รับวัคซีนครั้งสุดท้าย 
การคุมกำเนิดที่เหมาะสมสำหรับอาสาสมัครชาย หมายถึง
·         มีคู่เพศสัมพันธ์เพียงคนเดียวที่ใช้ห่วงอนามัย หรือการคุมกำเนิดที่กล่าวมาแล้วข้างต้น
·         ใช้วิธีขวางกั้น (Barrier method) และยาฆ่าอสุจิ (spermicide)
·         มีประวัติผ่าตัดทำหมันถาวร

·         อาสาสมัครชายที่คู่เพศสัมพันธ์ตั้งครรภ์ก่อนการคัดกรองสามารถเข้าร่วมโครงการได้ 
เกณฑ์การคัดออก อาสาสมัครที่มีคุณสมบัติตามเกณฑ์ต่อไปนี้ในวันนัดคัดกรอง (วันที่ 0หรือวันที่ 1เว้นแต่จะระบุไว้เป็นอย่างอื่น จะถูกคัดออกจากการเข้าร่วมโครงการ
1. มีประวัติติดเชื้อ SARS-CoV-2 หรือสัมผัสกับผู้ติดเชื้อ SARS-CoV-2 หรือโควิด-19
2. เดินทางออกนอกประเทศสหรัฐ ใน 28 วัน ก่อนวันนัดคัดกรอง (วันที่ 0)
3. ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร
4. มีความเจ็บป่วยรุนแรง หรือมีไข้ 24 ชั่วโมงก่อน หรือ ก่อนวันนัดคัดกรอง (วันที่ 0
ไข้ หมายถึง มีอุณหภูมิร่างกายที่วัดทางปาก ≥ 38.0 °C/ 100.4 °F อาสาสมัครที่มีเกณฑ์นี้อาจนัดให้มาใหม่หากยังอยู่ในกรอบเวลาที่กำหนด (window period) อาสาสมัครเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ไม่มีไข้สามารถเข้าร่วมโครงการได้ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้วิจัย
5. เคยได้รับวัคซีนวิจัย CoV (ได้แก่, SARS-CoV-2, SARS-CoV, MERS-CoV)มาก่อน
6. กำลังรักษาด้วย ยาวิจัยเพื่อป้องกันโรคโควิด-19
7. มีสภาวะทางการแพทย์ สภาพทางจิต หรืออาชีพการงานที่อาจทำให้เกิดอันตรายต่อการเข้าร่วมโครงการ หรือรบกวนการประเมินด้านความปลอดภัย หรือการแปลผล ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้วิจัย
8.    เป็นผู้ปฏิบัติงานด้านการดูแลสุขภาพ หรือ เป็นสมาชิกในทีมปฏิบัติการฉุกเฉิน
9.    กำลังใช้สารสูดดม ได้แก่ ยาสูบ กัญชา บุหรี่ไฟฟ้า เป็นต้น
10. มีประวัติติดบุหรี่ (≥ 1 มวนต่อวันภายใน 1 ปีก่อนนัดคัดกรอง (วันที่ 0)
11. มีประวัติใช้สารที่ผิดกฎหมาย หรือติดเหล้า ใน 2 ปีที่ผ่านมา ยกเว้นการใช้กัญชาซึ่งเป็นสิ่งผิดกฎหมายในอดีตในรัฐที่อาสาสมัครอาศัยอยู่ แต่ในปัจจุบันที่วันนัดคัดกรองกัญชาเป็นสิ่งถูกกฎหมาย
12. มีประวัติความดันโลหิตสูง หรือ systolic blood pressure > 150 mm Hg ในอาสาสมัครกลุ่มที่ 1 (≥ 18 to < 55 years old) หรือ systolic blood pressure > 160 mm Hg ในอาสาสมัครกลุ่มที่ 2 (≥ 55 years old) ที่วันนัดคัดกรอง (วันที่ 0)
13. มีประวัติความดันโลหิตต่ำ หรือ systolic blood pressure < 85 mm Hg ที่วันนัดคัดกรอง (วันที่ 0)
14. เป็นเบาหวาน
15. ได้รับการวินิจฉัยว่า เป็นโรคปอดเรื้อรัง ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (chronic obstructive pulmonary disease) โรคหอบหืด (asthma)
16. โรคระบบหัวใจและหลอดเลือด
17. อาศัยอยู่ในบ้านพักคนชรา
18. ผลทางการตรวจทางห้องปฏิบัติการด้านความปลอดภัยทางคลินิก (clinical safety laboratory testing) ระดับที่ 1 หรือมีความเป็นพิษสูง ที่วันนัดคัดกรอง (วันที่ 0)
19. ได้รับการวินิจฉัยทั้งปัจจุบัน หรือในอดีตว่าเป็นโรคที่เกี่ยวกับระบบภูมิคุ้นกัน
20. ได้รับยาที่ทำให้กดภูมิคุ้มกัน หรือยากลุ่ม immune-modifying drugs ติดต่อเป็นประจำรวมทั้งหมด > 14 วัน ใน 6 เดือนก่อนวันนัดคัดกรอง (วันที่ 0) (สำหรับ corticosteroids ≥ 20 mg/day ของ prednisone equivalent อนุญาตให้ใช้ยาสเตียรอยด์ ชนิดทาได้ หากไม่ได้ใช้ภายใน 14 วันก่อนวันนัดคัดกรอง (วันที่ 0)
21. คาดว่าอาจต้องใช้ยารักษาที่ทำให้กดภูมิคุ้มกันในระหว่างร่วมโครงการ
22.   พบผลบวกserology ของ hepatitis B virus surface antigen, hepatitis C virus antibody, หรือ human immunodeficiency virus (HIV) type 1 หรือ 2 antibodies ที่ วันนัดคัดกรอง (วันที่ 0)
23. มีประวัติการแพ้ มีผื่นคัน หรือ อาการไม่พึงประสงค์ที่สำคัญอื่นๆหลังจากได้รับวัคซีน
24. ภาวะเลือดออกผิดปกติซึ่งเป็นข้อห้ามในการเจาะเลือด หรือฉีดยาเข้ากล้าม
25. ได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งใน 10 ปีที่ผ่านมา รวมถึง non-melanoma skin cancer
26. ได้รับ หรือวางแผนที่จะได้รับวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ≤ 28 วันก่อนได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 (วันที่ 1หรือวางแผนที่จะได้รับวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนแล้ว ≤ 28 วันก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนวิจัย สามารถฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ที่ขึ้นทะเบียนแล้ว มากกว่า 14 วันก่อนหรือหลังฉีดวัคซีนวิจัยได้
27. ได้รับ immunoglobulin หรือ ผลิตภัณฑ์จากเลือด ภายในช่วง 3 เดือนก่อนวันนัดคัดกรอง (วันที่ 0) หรือมีแผนที่จะรับเวลาใดๆขณะอยู่ในโครงการ
28. บริจาคโลหิต ≥ 450 mL ภายใน 28 วันก่อนวันนัดคัดกรอง (วันที่ 0) หรือมีแผนที่จะบริจาคโลหิตเวลาใดๆขณะอยู่ในโครงการ
29. เข้าร่วมการวิจัยทางคลินิกอื่น ภายใน 28 วันก่อนวันนัดคัดกรอง (วันที่ 0) หรือมีแผนที่จะเข้าร่วมวิจัยทางคลินิกที่เวลาใดๆขณะอยู่ในโครงการ
30. มีสมาชิกในครอบครัว หรือสมาชิกในบ้านเป็นเจ้าหน้าที่วิจัย
 ถ้าทราบผลการวิจัยเมื่อไหร่จะมาแจ้งให้ทราบต่อไป 
ข้อมูลโครงการนี้เอามาจากการขึ้นทะเบียนวิจัยในwebsite ที่ https://clinicaltrials.gov/ct2/results?cond=mRNA-1273&term=&cntry=&state=&city=&dist= 

บทความใหม่

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test

ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้าน Home Use Test ปัจจุบันนี้ชุดตรวจโรคด้วยตัวเองที่บ้านมีใช้กันอย่างแพร่หลาย สามารถอำนวยความสะดวกให้เราได้ตรวจโรค...

บทความแนะนำ