การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัว (Privacy and Confidentiality)
ความเป็นส่วนตัว (Privacy) เป็นสิทธิที่บุคคลจะปกป้องการเข้าถึงข้อมูลที่เป็นเรื่องส่วนตัวของตน ได้แก่ ข้อมูลส่วนบุคคล พฤติกรรมส่วนบุคคลหรือที่ควรปกปิด การเก็บตัวอย่างทางชีววิทยา
การรักษาความลับ (Confidentiality) เป็นการปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลที่เก็บไว้แล้วไม่ให้เผยแพร่ออกไปยังผู้อื่น
การเปิดเผยความลับ (Breached of Privacy) อาจโดยความไม่ตั้งใจ อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่ออาสาสมัครวิจัยทั้งทางร่างกาย จิตใจ เศรษฐกิจ กฎหมายและสังคม เช่น การเข้าร่วมวิจัยการป้องกันHIVโดยการกินยาต้านHIVทุกวัน หากรู้ไปถึงคู่สมรสและเพื่อนร่วมงานโดยไม่ตั้งใจ อาจทำให้เข้าใจผิดคิดว่า อาสาสมัครติดเชื้อ HIV แล้วกำลังรักษา คู่สมรสอาจโกรธ ทะเลาะและทำร้ายร่างกายกัน หรือถูกไล่ออกจากงานได้ ทำให้อาสาสมัครทุกข์ใจ เป็นที่รังเกียจของสังคม
จากพระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.2562 “ข้อมูลส่วนบุคคล” หมายความว่า ข้อมูลเกี่ยวกับบุคคลซึ่งทาให้สามารถระบุตัวบุคคลนั้นได้ ไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม แต่ไม่รวมถึงข้อมูลของผู้ถึงแก่กรรมโดยเฉพาะ
ข้อมูลส่วนบุคคล (Personal information) เป็นข้อมูลของบุคคลใดบุคคลหนึ่งที่สามารถใช้ระบุตัวตน การติดต่อ ที่อยู่ของบุคคลนั้นได้
ได้แก่ ข้อมูลทั่วไป ข้อมูลทางการแพทย์ ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือทัศนคติ
· ข้อมูลทั่วไป (General information) ได้แก่ ชื่อ-นามสกุล ชื่อย่อ ฉายา Nickname เลข/รหัส/ลักษณะเฉพาะที่เชื่อมไปสู่บุคคล เช่น เลขประจำตัวประชาชน เลขประกันสังคม
เลขประจำตัวผู้ป่วย เลขบัญชีธนาคาร เลขสมาชิกต่างๆ วัน-เดือน-ปี เกิด รูปภาพ เสียง ลายมือ เลขใบขับขี่ เลขทะเบียนรถ บ้านเลขที่ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ อีเมล์ Username/Password
· ข้อมูลทางการแพทย์ (Health information)
- การวินิจฉัยทางการแพทย์ Medical diagnosis เช่น เบาหวาน ความดันสูง ตับอักเสบ
HIV โรคอารมณ์แปรปรวนสองขั้ว (bipolar disorder)
- ประวัติทางการแพทย์ เช่น ซิฟิลิส
- ประวัติการใช้สารเสพติด เช่น ยาอี ยาบ้า
- ข้อมูลเกี่ยวกับพันธุกรรมจากเลือด น้ำลาย เช่น Thalassemia
- อื่นๆที่นำไปสู่เอกลักษณ์ของบุคคลนั้นได้ เช่น ลายนิ้วมือ ม่านตา (Retina scan) บันทึกฟัน
· ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมหรือทัศนคติ (Behavioral and attitudinal information)
- ความคิดเห็นและข้อมูลพฤติกรรมที่ได้จากการ
- ซักประวัติทางการแพทย์
- สัมภาษณ์ (ทางโทรศัพท์ หรือคอมพิวเตอร์ หรือ online หรือ
การสัมภาษณ์แบบกลุ่ม Focus group)
- การสังเกต (Observation)
- บันทึกประจำวัน (Diary)
· ข้อมูลที่ละเอียดอ่อน เช่น เพศสัมพันธ์
· ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับกฎหมาย เช่น การใช้สารเสพติด การชายบริการทางเพศ
การรักษาความลับและความเป็นส่วนตัวของอาสาสมัครวิจัย
จาก ICH GCP 1.16 การรักษาความลับ (Confidentiality) เป็นการป้องกันมิให้มีการเปิดเผยข้อมูลเกี่ยว กับผลิตภัณฑ์ของผู้ให้ทุนวิจัยหรือข้อมูลส่วนบุคคลของอาสาสมัครให้แก่บุคคลอื่นซึ่งไม่ได้รับอนุญาต
ทีมวิจัยต้องให้ความเคารพต่อสิทธิในการปกป้องศักดิ์ศรีของอาสาสมัครอยู่เสมอ ต้องดำเนินการวิจัยด้วยความระมัดระวัง
เคารพความเป็นส่วนตัวและรักษาความลับของข้อมูลส่วนบุคคลของอาสาสมัครวิจัย (Respect for privacy and
confidentiality) เพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดจากการวิจัยต่อ ร่างกาย จิตใจ
บุคลิกภาพ โดย
· อธิบายให้อาสาสมัครเข้าใจถึงสิทธิในการปกป้องความเป็นส่วนตัว เช่น
- อาสาสมัครมีสิทธิออกจากโครงการเมื่อใดก็ได้
- อาสาสมัครมีสิทธิไม่ตอบคำถามที่อาจทำให้เกิดความไม่สบายใจ
- อาสาสมัครมีสิทธิปฏิเสธการขอเก็บตัวอย่างเพื่อการวิจัยในอนาคต
รวมทั้งอธิบาย วัตถุประสงค์ของการเก็บข้อมูล วิธีการจัดเก็บ การจัดการข้อมูลวิจัย และการทำลายเมื่อการวิจัยเสร็จสิ้นสมบูรณ์
· เอกสารที่มีข้อมูลส่วนบุคคล เช่น Participant Identification Form ที่มีชื่อ ที่อยู่ เบอร์โทรศัพท์ของอาสาสมัคร ต้องเก็บไว้ในที่ๆปลอดภัย จำกัดการเข้าถึง เอกสารต้องเก็บใน ตู้/ห้อง ที่ใส่กุญแจ
· เอกสารหรือข้อมูลที่เป็นอิเลคทรอนิกส์ ให้มีการใส่ username และ password
· เอกสารและข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยให้ดูได้เฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องที่ระบุไว้ใน โครงร่างการวิจัย เอกสารแนะนำอาสาสมัครและใบยินยอม ใบมอบหมายหน้าที่ (Delegation log) เท่านั้น
· หากจำเป็นต้องมีการส่งข้อมูลไปให้ผู้กำกับดูแลการวิจัย หรือ บุคคลที่อยู่ในทีมวิจัยแต่อยู่นอกสถานที่วิจัย ให้เอาข้อมูลส่วนบุคคลออกก่อน
· เอกสารวิจัยและข้อมูลวิจัย ที่ไม่ได้ใช้แล้วจะถูกทำลาย อาจโดยการย่อยด้วยเครื่องย่อยเอกสาร หรือล้างออกจากเครื่องคอมพิวเตอร์
· ข้อมูลที่จะนำไปวิเคราะห์เผยแพร่จะทำได้ต้องได้รับความยินยอมจากอาสาสมัครอย่างเป็นลายลักษณ์อักษร ตาม
พระราชบัญญัติข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ.๒๕๔๐ มาตรา ๒๔ หน่วยงานของรัฐจะเปิดเผยข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่อยู่ในความควบคุมดูแลของตนต่อหน่วยงานของรัฐแห่งอื่นหรือผู้อื่น โดยปราศจากความยินยอมเป็นหนังสือของเจ้าของข้อมูลที่ให้ไว้ล่วงหน้าหรือในขณะนั้นมิได้ เว้นแต่เป็นการเปิดเผยดังต่อไปนี้ (๔) เป็นการให้เพื่อประโยชน์ในการศึกษาวิจัย โดยไม่ระบุชื่อหรือส่วนที่ทำให้รู้ว่า เป็นข้อมูลข่าวสารส่วนบุคคลที่เกี่ยวกับบุคคลใด
และในอนาคตจะมีการบังคับใช้
พระราชบัญญัติคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (Personal Data Protection Act: PDPA) พ.ศ.๒๕๖๒ มาตรา ๑๙ ผู้ควบคุมข้อมูลส่วนบุคคล
(บุคคลหรือนิติบุคคลซึ่งมีอำนาจหน้าที่ตัดสินใจเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล) จะกระทำการเก็บรวบรวม ใช้ หรือเปิดเผยข้อมูล ส่วนบุคคลไม่ได้หากเจ้าของข้อมูลส่วนบุคคลไม่ได้ให้ความยินยอมไว้ก่อนหรือในขณะนั้น
เว้นแต่บทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัตินี้หรือกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้
การขอความยินยอมต้องทำโดยชัดแจ้ง เป็นหนังสือหรือทำโดยผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์ เว้นแต่โดยสภาพไม่อาจขอความยินยอมด้วยวิธีการดังกล่าวได้ อ่าน พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล พ.ศ.๒๕๖๒ ฉบับเต็ม ที่รอการบังคับใช้ ได้ที่
https://drive.google.com/file/d/1xeTXUuYfxo0JFF-lQt4DAzwCYXBVp9Ci/view?usp=sharing
ในการปฏิบัติทางการแพทย์ ควรมีสถานที่ที่ส่วนตัวเวลาพูดคุยกับผู้ป่วย หากไม่มีห้องส่วนตัวก็ควรพูดคุยในที่ห่างไกลผู้ป่วยคนอื่น ไม่ใช่ร่วมฟังกันเป็นหมู่คณะ ไม่ควรซักประวัติต่อหน้าสาธารณชน หรือการแนะนำการใช้ยา คนที่มีโรคประจำตัวร้ายแรง เช่น ผู้ที่ต้องใช้ยาต้านเขาก็ไม่อยากให้ใครรู้
ในการดำเนินการวิจัย มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องมีห้องสำหรับกระบวนการขอความยินยอมและพูดคุยกับอาสาสมัคร
ถึงแม้จะมีห้องที่เป็นส่วนตัวก็ควรตรวจเช็คดูด้วยว่า เสียงพูดคุยเล็ดรอดออกมาข้างนอกหรือไม่ เคยมีอาสาสมัครวิจัยมาเล่าให้ฟังว่า เขาออกจากโครงการวิจัยเพราะ ระหว่างนั่งรอคิวเข้าห้องตรวจ เขาได้ยิน คนคุยกันจากห้องตรวจ ซึ่งเขาไม่สบายใจ เพราะ คนอื่นอาจได้ยินเขาคุยกับทีมวิจัย ซึ่งสิ่งที่คุยมันเป็นความลับของเขา และทำให้สิ่งที่เขาบอกไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริงของเขา
เคยไปซื้อยาที่ร้านขายยาของรัฐ ซึ่งมีข้อจำกัดในเรื่องสถานที่ พอถึงตอนแนะนำการใช้ยามีลูกค้าคนอื่นที่รอรับยามาร่วมฟัง ร่วมพูดคุย
ก็นึกว่านิสัยคนไทยมีน้ำใจให้ความเห็น ขำๆ แต่บางคนเขาไม่ขำ เขาบอกว่ามันเป็นการเปิดเผยความลับของเขา ตอนนี้คงไม่เกิดแบบนี้เพราะการระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องมี Social Distancing
บางทีเรื่องเล็กๆน้อยๆที่เราไม่ทันคิด แต่มันอาจเป็นเรื่องร้ายแรงของผู้อื่น จงเอาตนเป็นเครื่องเปรียบเทียบ เราอยากได้อะไรคนอื่นเขาก็อยากได้แบบนั้น
ในการดำเนินการวิจัย ผู้วิจัยต้องขอความยินยอมจากอาสาสมัครเป็นลำดับแรกก่อนทำกิจกรรมวิจัย ดำเนินการวิจัยด้วยความระมัดระวัง รักษาความลับให้อาสาสมัครวิจัยโดยไม่เปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคลให้เผยแพร่ออกไป หากมีการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลในอนาคตท่านอาจได้รับบทลงโทษ ทั้งทางแพ่ง ทางอาญา และทางปกครอง เมื่อพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลมีผลบังคับใช้เต็มรูปแบบ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น